เมื่อช่วงเดือนถึงสองเดือนทีผ่านมา ชื่อของศิลปิน “พี สะเดิด” ได้ถูกกล่าวขานอย่างมากในโลกโซเชียล เนตเวิร์ค กับ #นายเองก็เป็นพีสะเดิดได้นะ รวมถึงมีมต่าง ๆ ที่นำเอาภาพอนิเมะที่หน้าตาคล้ายเจ้าตัวมาโพสต์กันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาแรคเตอร์ของเอเรน จากเรื่องผ่าพิภพไตตัน จนสุดท้ายได้กลายออกมาเป็นซิงเกิ้ล “เขาเรียกผมว่าเอเรน” กับดนตรีสไตล์ร็อกที่แปลกใหม่จากที่เจ้าตัวเคยทำ บ่งบอกความชอบที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของพี สะเดิด แต่จริง ๆ แล้วลึก ๆ เจ้าตัวชื่นชอบเพลงร็อกและเมทัลมากขนาดไหน อะไรคือแรงบันดาลใจ และคำว่าเส้นแบ่งดนตรีสมควรมีอยู่หรือไม่ มาค้นหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันจากบทสัมภาษณ์นี้ครับ

ภาพถ่ายโดย : แชมป์ Headbangkok และภาพบางส่วนจากเพจ P-Saderd

ที่มาที่ไปของเพลงเขาเรียกผมว่าเอเรน

จริง ๆ มันเริ่มจาก Twitter ที่สมัครเมื่อหลายปี มีสองแอคเคาต์ แอคเคาต์แรกสมัครตั้งแต่มี Twitter เข้ามาแรก ๆ ตั้งแต่ยังไม่ค่อยมีคนเล่น เสร็จแล้วลืมรหัสผ่านไม่ค่อยมีคนตาม ก็เลยทิ้งไปสมัครแอคเคาต์ใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก็มีคนติดตามประมาณ 30 คน เหมือนแฟนเพลงกลุ่มเราเค้าไม่ค่อยเล่น Twitter พี่ก็เอาไว้ตามข่าว แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร จะเน้นเรื่อง Facebook, Instagram แต่ Twitter เนี่ยถ้าถามใจพี่จริง ๆ พี่ก็อยากจะมีทุกช่องทางกับการที่คนได้รับรู้และก็เห็นตัวตนของเรา Twitter เราเข้าใจแหละ Quote ต้องเป็นอีกแบบนึง Tweet อีกแบบนึง Instagram อีกแบบนึง ทุกอย่างอีกแบบนึง ถามว่ามันยุ่งยากไหมสำหรับพี่ โคตรยุ่งยากเลย ทำไมมันหลายช่องทางขนาดนี้ โลกนี้ทำไมมันเยอะแยะไปหมด สมัยก่อนช่อง 3, 5, 7, 9 ก็ว่าเยอะแล้ว ยุคนี้เราต้องตามให้หมด และปกติพี่เป็นคนชอบเทคโนโลยีอยู่แล้ว มี iPod ตั้งแต่สมัยคลาสิกก่อนคลาสสิกอีกอะไรแบบนี้ พอมีแอปพลิเคชันขึ้นมาพี่รู้สึกตื่นเต้นกับมัน เหตุผลเข้าเรื่องก็คือ Twitter จริง ๆ มันมีมาก่อนหน้านี้ ที่เอาหน้าพี่พีไปเปรียบเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่น โอโรจิมารุเอย ใครคาดผมนี่โดนหมด พี่ก็เก็บรูปเหล่านั้นไว้ในโทรศัพท์ตลอดอยู่แล้ว น่าจะเป็นช่วงเมื่อสองปีที่แล้ว ก็ขำดี มีรอยยิ้ม ทำให้ชีวิตส่วนตัวพี่มีชีวิตชีวามากขึ้น เรารู้สึกว่าพิเศษขนาดนั้นเลยเหรอ หน้าตา บังเอิญว่าผมยาวคาดผม เป็นเอกลักษณ์เรา ก็เลยไปเปรียบเทียบ

แล้วพี่ก็ทวีตไปก่อนหน้านี้ที่จะมีประเด็นแรงขึ้นมาเกี่ยวกับเอเรน พี่พีก็ทวีตปกติทั่วไป ทวีตประโยคคำคมบ้าง ก็ทวีตนู่นนี่นั่น ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ ทวีตทำกับข้าวบ้าง ขำ ๆ ก็ทำไป เสร็จแล้วก็ช่วงหลังนี้มามีมการ์ตูนบ่อย แบบว่าไปตอบโต้สนุก ๆ ซึ่งถ้าตอนนั้นก็คิดว่าคงมีคนรับรู้แค่ 35-36 คน ที่พี่คิดแค่นั้น เสร็จแล้วบังเอิญว่าทำไมมีคนมาเข้าใจเรา หรือเราไปเข้าใจเค้า มันก็เลยกลายเป็นว่าเริ่มมีคนมากดไลค์ให้เรา หลัก 40 โหเยอะแล้วนะ จาก 12 เยอะมากมาร้อย สักพักผมพิมพ์ไปว่ากำลังคิดว่าถ้ามีคนติดตามเราถึง 1,000 พี่พีจะเขียนเขาเรียกผมว่าเอเรน เกิดจากตรงนี้ เสร็จแล้วคืนนั้นผมเข็นรถอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต พิมพ์ไปไม่ถึงสิบนาที คนรีทวีตเพิ่ม พี่ใส่แฮชแท็กเพิ่ม #Psaderd #เขาเรียกผมว่าเอเรน นู่นนี่นั่น เฮ้ยทำไมขึ้นมาเร็วอย่างนี้ภายในไม่กี่นาที คืนนั้นขึ้นมาเป็นหมื่น พี่ตกใจกับมันมาก เสร็จแล้วพอมันขึ้นมาแบบนี้ เฮ้ยมันไม่ตลกแล้วเนี่ย พี่มองว่าคนที่อยู่ในทวิตเตอร์เราจริงจัง เราอ่านเกมไว้ว่าคนจริงจัง อ่านชีวิตของคนเหล่านั้น แล้วเค้าอยากฟังอะไรในนั้น หรือเค้าแค่อยากสนุก แต่เราคิดไปมากกว่านี้เพราะเราเป็นโจทย์ ใช้เวลาคิดในหัวตอนนั้น 10-15 นาที หลังจากที่เขียนข้อความลงไป พี่เป็นคนคิดเยอะก็เลยคิดในหัวเวลานั้นว่าต้องเขียนเพลงแบบนี้ ๆ หาทางออกเป็นเชิงให้กำลังใจดีกว่าไหม “เขาเรียกผมว่าเอเรน” ไม่ใช่พี่คนเดียวที่ถูกเรียกว่าเอเรน หลาย ๆ คนหน้าตาเหมือนก็มีเยอะแยะ ใครไม่เหมือนก็ได้ จะให้ใครเรียกคุณว่าเอเรนก็ได้ ให้เรียกกับคนที่กำลังแย่อยู่ กำลังทุกข์ กำลังหาทางออกกับชีวิตไม่ได้ กำลังหลับไหลอยู่ พ่ายแพ้หรืออะไรก็ตามแต่ ก็เลยคิดในหัวแบบนั้น “เขาเรียกผมว่าเอเรน” เรียกเพราะว่าอยากให้ลุกขึ้นมา ลุกขึ้นสู้ และก็ให้แกร่งเหมือนเอเรนที่เป็นนักสู้ แต่ความหมายของพี่จริง ๆ พี่ไม่ได้คิดแค่นั้น ใครก็ได้ที่เป็นฮีโร่ของทุกคน จะเป็น พ่อ แม่ หรือพี่ หรืออะไรก็ตามแต่ ใครก็ได้กว้างมากคำว่าเอเรน 

เพลงนี้เริ่มจากดนตรีส่วนไหนก่อน

เริ่มจากเนื้อร้องและก็เมโลดี้ในหัวก่อน มาพร้อมกันหมดเลย เราจะดำเนินเรื่องยังไง พี่คิดเวลานั้นเลย มันต้องเป็นบัลลาดเล่าเรื่องเล็ก ๆ เล่าเรื่องสั้น ๆ พอเข้าใจง่าย ให้คนฟังได้ทุกกลุ่ม พี่คิดตอนนั้นเลยต้องเขียนให้คนฟังได้ทุกกลุ่ม เพราะพี่ซีเรียสไง ณ เวลานั้นพี่ซีเรียส เฮ้ยเราตลกไม่ได้นะ เราขำไม่ได้นะ เป็นอีกมุมที่พี่เขียน ๆ ในหัว เรียบเรียงในหัว คือเสร็จหมดแล้วในหัว ณ เวลานั้น ทุกคนยังไม่รู้เลยว่าพี่คิดเพลงได้แล้ว แล้วพี่มองว่าเพลงนี้ถ้าเป็นเมเจอร์มันคงสบายมากไป ก็เลยเอาเป็นไมเนอร์ละกัน น่าจะเป็นเอไมเนอร์ คีย์ที่พี่ถนัดก็คือคีย์เอ เสียงเราพอดี สามารถพีคได้ เบาได้ และเล่นเสียงในเรนจ์กลางได้ แล้วก็เน้นให้ทุกคนฟังได้หมด พี่คิดแบบนั้น แล้วก็เล่าเรื่องในหัว โดยปกติติพี่ก็จะเขียนเพลงใน iPhone ขับรถไปก็เขียนในหัวไปอยู่แล้ว เสร็จแล้วก็ไปลงรายละเอียดที่บ้าน ใส่คอร์ดนี้ มาทางนี้ ทำนองแบบนี้ กีต้าร์ก็เติมเข้าไปแล้วก็อัดเป็นไกด์ แล้วก็เริ่มจากตอนทำเดโม่ก็ทำจากเปียโนมาก่อน อยากให้มันมีอารมณ์คลาสสิคในนั้นด้วย แต่พี่ขอแค่พอดี พี่ก็อะเรนจ์เพลงขึ้นมา พี่ไม่ได้เล่นเองนะ พี่ให้น้องเล่นให้ฟัง พี่ต้องการแบบนี้ ๆ แล้วก็เรียบเรียงขึ้นมา ค่อย ๆ ไล่อารมณ์ดนตรี แล้วก็พอท่อนคำเรียกผมว่าเอเรนอยากให้มันมีจังหวะขึ้น และก็ให้มีความเป็นป๊อปนิดนึงความรู้สึกของพี่ ป๊อป บัลลาด แล้วก็นึกถึงเจร็อกด้วย มันควรจะมีแบบไหนอะไรอย่างนี้ครับ ก็ทำในจังหวะที่มันพอดี เวลาไปเล่นสดพี่สามารถอัพจังหวะขึ้นได้ พี่คิดไว้หมดแล้วประมาณนั้นครับ 

ใช้เวลาทำเพลงนี้นานขนาดไหน

เอาเข้าจริง ๆ ไม่ถึงเดือน แต่ก็มีช่วงจังหวะที่ต้องจัดการกับเพลง จัดการกับการทำเดโม่ก่อน แล้วก็เข้าห้องอัดเพื่ออัดเสียงร้องแล้วก็ดนตรี

ซาวด์ซิมโฟนิกที่ถูกนำมาใช้ในเพลง “เขาเรียกผมว่าเอเรน”

เวลาพี่พีร้องเพลง อย่างเสียงร้องที่มีประสานเสียง เชื่อไหมว่าเวลาพี่อัดไกด์ลงไปเนี่ยพี่จะมาฟัง ละพอถึงท่อนนี้ ๆ มันควรจะมีอะไร มันจะผุดขึ้นมาเอง พี่ชอบคอรัสอยู่แล้ว เพลงหลาย ๆ เพลงของพี่พีพี่ชอบคอรัส มันเหมือนกับเพลง “Wonderful Tonight” ของ Eric Clapton ทำไมเพราะอย่างนี้ ใครประสาน จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทำได้เลย มันงดงามมาก พี่ก็เลยรู้สึกว่ามันต้องมีในเพลงของเรา ก็ทำให้เพลงมันมีอารมณ์ มันมีจังหวะส่งของท่อนอย่างนี้ มันทำให้เพลงมีเสน่ห์มากขึ้น ก็คิดเอง ณ เวลานั้น หลังจากที่อัดเดโม่เสร็จแล้ว

การอัดกลุ่มเครื่องสายในเพลงนี้

พี่ทำในโปรแกรมก่อนตอนแรกเลย เอาความกว้างเข้าไว้ แล้วก็ใส่เครื่องเล็ก เครื่องใหญ่ ลงไป แล้วก็เอาเครื่องสายจริง ๆ มาสี สีเล่นให้ตามนั้น เล่นอัดทับไป แล้วก็ใส่ลงไปเสริม ให้มันกว้างขึ้น ผสมกันเข้าไป 

การมิกซ์และมาสเตอร์

พี่พีนั่งคุมเองครับ แต่ไม่ได้รู้เรื่องค่าอะไรต่าง ๆ แต่พี่ชอบ Muse มากเลย ส่วนตัวมีอัลบั้มเพลงเค้า พี่ชอบเพลงเค้า พี่ชอบในความมีมิติ ซ้าย ขวา แค่เสียงกรีดสายกีต้าร์ พี่เอามาใช้ในเพลง โซโล่พี่ก็ให้มันแพนซ้ายขวา อาจจะทำได้ไม่ดีมาก แพนก่อนเข้าโซโล่พี่ก็ทำ ก็ได้ไอเดียมาจากตรงนั้นด้วย ลูกโซโล่ก็ง่าย ๆ คิดง่าย ๆ เด็กน่าจะเล่นได้ คือคิดเยอะอ่ะ แล้วก็เล่นในสิ่งที่เราเล่นได้แค่นั้น ไม่เกินตัวประมาณนั้น

(HBK : เอาง่าย ๆ พี่พีไปนั่งคุมเองเลย อยากได้ซาวด์ตรงนี้เป็นแบบนี้ ท่อนนี้เป็นแบบนี้ใช่ไหมครับ)

ใช่ครับ เสียงที่เป็นทรานซิสเตอร์ พี่พีก็อยากได้ตรงนั้นมา เพื่อที่จะให้รู้สึกใหม่กับเรา หลาย ๆ คนก็อาจจะไม่ค่อยได้ยินเสียงเหล่านี้ ฝรั่งใช้บ่อย ฝรั่งเค้าไม่มีลิมิตเลย บ้านเราหลาย ๆ อย่าง พี่พีไม่อยากจะมีลิมิตกับเพลงนี้มาก ปลดปล่อยไป

การวางเพลงให้เล่นได้หลายสปีด

จริง ๆ พี่พีทำกับเพลงของพี่อยู่แล้ว เวลาไปเล่นคอนเสิร์ต ตั้งแต่เพลง “สาวซำน้อย” เมื่อก่อนมันช้ามาก ทุกเพลง หลาย ๆ เพลงพี่จะเล่นเร็วอยู่แล้ว บางเพลงพี่ก็เอามาเล่นใหม่ “จี่หอย” พี่เล่นเร็วมาก แล้วยุคสมัยมันเปลี่ยนมันต้องอัพบีตส์ เวทีคนแก่พี่ก็จะเล่นอีกแบบนึง พอไปเจอกาชาดอย่างงี้ โหหมื่นคนอ่ะต้องเอาให้เค้าอยู่ เรื่องบีตส์สำคัญมากสำหรับเด็กยุคนี้ มันถูกคิดมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ส่วนเพลงนี้เรารู้เราเข้าใจความเป็นเจร็อกได้ดีว่ามันมีความเป็นเมทัลสูงมาก พี่เผื่อไว้แล้วว่าต้องเล่นสองกระเดื่อง ก็ไม่ได้คิดอะไรมากด้วยนะครับ คิดไว้แค่นั้นเอง คิดแบบนั้น เดี๋ยวเผื่อเล่นสองกระเดื่องครับ

อยากให้เด็ก ๆ แกะเพลงนี้เล่นตามกันได้ง่าย ๆ

มันเป็นจุดประสงค์ที่เราอยากจะให้กำลังใจสำหรับเด็ก ส่วนมากคนที่ติดตามพี่พีก็จะเป็นเด็กในเมือง แล้วเรารู้ว่าเจนนี้ที่เค้าเรียนมหาวิทยาลัย โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ และหลาย ๆ คน หลาย ๆ มุม หลาย ๆ มิติของเด็ก เด็กยุคนี้มีความพ่ายแพ้มันแพ้ง่ายมาก ยังไม่ได้เดินทางมากเลยแพ้ไปแล้ว ความอดทนสั้นมาก เรามีความคิดตรงนั้นด้วย เราประมวลผลออกมาแบบนั้นจริง ๆ ถ้าเด็กได้ฟังจะเข้าถึงได้ง่าย แต่ไม่ได้คาดหวังนะ เพราะว่าเสียงพี่พีมันอยู่ในโทนลูกทุ่งซะเยอะ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะฟังอะไรมากมาย เพราะว่าเอาแค่ว่าคนที่รอเราหมื่นกว่าคน พี่พีคิดแค่นั้นว่าจะฟัง ขอบคุณการ์ตูน ขอบคุณแฟนเอเรนแค่นั้นเอง เค้าเข้าใจตรงนี้ได้ เค้าจะมีกำลังใจขึ้นมากได้ ไม่ได้คิดมุ่งเป้าอะไรมากมาย แต่อยากให้เค้าต่อสู้ ฟังแล้วมีกำลังใจ

กระแสตอบรับและรีแอคเพลง “เขาเรียกผมว่าเอเรน”

เกินครับ เกินในสิ่งที่คิด แต่ก็พอจะมองเห็นว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของเมโลดี้หรือกำลังใจจากเพลงช่วยได้ในส่วนนึง คนที่ไม่ได้รู้เรื่องของเอเรนอะไรถ้าเค้าตีความถูกเค้าก็จะมองว่าเพลงนี้เป็นเพลงให้กำลังใจ ไม่ใช่เพลงที่ไม่มีใครรู้จักพี่มองแบบนั้น ดีใจครับ

ดนตรีร็อกผสมดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน

จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับกำแพงระหว่างกับพี่กับส่วนตัว เพราะพี่พีเขียนไว้เยอะอยู่แล้วที่เป็นเพลงภาคกลางแต่ยังไม่ได้เปิดให้ใครฟัง เพลงก่อนหน้านี้เป็นเพลง “อยากกอดเธอ” พี่พีก็ทำเป็นป๊อปร็อก แต่มันไม่ได้ถูกฟังกันเยอะ จะมีความคิดแบบนั้นอยู่แล้ว ส่วนอีสานอยู่ในสายเลือดมาอยู่แล้ว มันก็จะเป็นความแปลกสำหรับคนอื่นมากกว่า สำหรับพี่พีเองพี่ว่ามันเป็นเรื่องความท้าทายอยู่ที่ว่าเราจะสื่อมันออกมาแบบไหนกับเพลงดนตรีที่เราทำ บางเพลงอาจจะไม่มีภาษาอีสานแต่ความเป็นอีสานมันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว สำเนียงมันก็มีบ้างอยู่แล้ว คนก็อาจจะตกใจกันบ้างนิดนึง แต่ถ้าถามพี่จริง ๆ อยากทำทั้งเพลงภาคกลาง เพลงอีสานแท้จริง ๆ มันก็น่าจะมีอยู่ในอัลบั้ม มันควรแยกออกจากกันบ้าง โดยที่บางครั้งมันอาจจะไม่ได้รวมกันทีเดียว เพราะว่าคนหลายภาคเราก็ไม่ได้อยากดึงเค้ามายัดเยียดขนาดนั้น เพราะว่าบางครั้งถ้ายัดเยียดคำลงในเพลงที่มันไม่ควรลงมันดูยัดเยียดไป เพราะพี่พีเคยทำมาหมดแล้ว ยัดเยียดไปมันก็ลำบาก

เปิดตัวตัวตนของร็อกในรายการ The Mask Singer

จริง ๆ ทางช่องเค้าเป็นคนเลือกให้เรา แต่เพลงที่พี่พีร้องสามเพลงพี่พีเลือกเอง ก็ “เพื่อเธอ” มันเป็นเพลงที่ประกาศความเป็นร็อก เป็นร็อกยุคเรา วงหิน เล็ก ไฟ แล้วพี่พีก็ชอบเพลงนี้ คีย์มันก็สูง แล้วเราก็ชอบเราชอบเพลงร็อกอยู่แล้ว ถ้าไปออกรายการนี้ทั้งทีก็เลยอยากจะร้องเพลงแบบนี้ไปเลย เพราะว่ามันฉีกอยู่แล้วใช่ไหม ทุกคนฉีกอยู่แล้ว เราก็เลยอยากจะเป็นเราให้มากที่สุด ให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นแบบนี้นะ จริง ๆ แล้วเราอยากเป็นแบบนี้ โดยที่เพลงที่ปล่อยไปคือสิ่งที่เราชอบ อยู่ในสายเลือด มันคือการเดินทาง “Sweet Child O’ Mine” ทุกคนก็น่าจะเซอร์ไพส์ เพราะพี่พีไปเล่นหลายที่ เล่นกาชาด เล่นงานวัด เล่นวงหมอลำซิ่ง ขึ้นเวทีหมอลำเพลินก็มีเป็นรับเชิญ ไปเล่นแถวสุขุมวิท บาร์ฝรั่ง เราเป็นนักร้องที่คนรู้จัก รู้จักว่าเราเป็นนักดนตรี เราก็ควรเล่นให้หลากหลายหรือบางครั้งต้องเอาใจแฟนเพลงหน่อยไหม คือต้องคิดแบบนั้นให้มันกว้าง ๆ เข้าไว้ ส่วนตัวก็ชอบเพลงเหล่านี้อยู่แล้ว ก็เลยทำเพลงเหล่านี้ไปร้อง

จุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรี

เริ่มต้นตอน ป.5 ครับ ที่จับกีต้าร์ ตอนแรกพี่ชายเล่นครับ แล้วเค้าไม่ให้เล่นเค้าหวง แล้วก็พูดมึงว่าเล่นไม่ได้หรอก พี่สนิทกันอ่ะนะ แล้วเราก็แอบเล่นในตอนที่เค้าเข้าห้องน้ำอาบน้ำ ช่วงระเวลาสั้น ๆ เราก็หยิบไปเล่น มันก็ได้นี่หว่า จับคอร์ด Em (อีไมเนอร์) ได้นี่หว่า แล้วก็ลองร้องเองมันก็ได้นี่หว่า จังหวะมันก็ได้นี่หว่า สามวันก็เล่นได้ เล่นโซโล่ได้ ร้องได้ เจ็บนิ้วมาก ฮา ๆ ยังเล่นคอร์ด F ไม่ได้นะ คอร์ดที่จับสองนิ้วอ่ะ คอร์ดที่จับสามนิ้วเล่นได้ ช่วงแรก ๆ ก็แกะเพลง “ได้อย่างเสียอย่าง”, “ผีโรงเย็น” เปิดหนังสือเล่น

การพัฒนาสกิลดนตรีของตัวเอง

น่าจะตอนมัธยม ม.2 พี่พีก็ขึ้นประกวดแล้วอาจารย์ก็เห็น แล้วก็ได้รางวัลมา อาจารย์ก็เลยเรียกไปอยู่ในวงให้เล่นกีต้าร์ไฟฟ้า เป็นคนเดียวที่อยู่ ม.2 กับวงอาจารย์ จะเล่นเพลงที่ต้องโซโล่ คือเพลง “ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ” แล้วก็ร้องเองด้วยเล่นด้วย โซโล่ด้วย เพลง “วณิพก” เพลง “วิชาแพะ” อะไรอย่างนี้ครับ ก็เล่นมาเรื่อย ๆ ตอนนั้นก็ยังไม่มองว่าเป็นอาชีพได้ เพราะเล่นในโรงเรียนแล้วก็ประกวดในโรงเรียนสมัย ปวช. แล้วก็เล่นคนเดียวไม่มีวงด้วย เป่าฮาโมนิก้า ร้องเพลงในงานลูกเสือ ร้องเพลงในงานเวลาอาจารย์เรียกให้ไปร้องต่อหน้าคน 3-4 พันคน ก็ไม่คิดว่าเป็นอาชีพ ถัดจากนั้นพอมาเรียน ปวส. ก็ไปหารายได้พิเศษตอนกลางคืน เล่นอคูสติก ส่วนมากร้องเล่นอยู่คนเดียวมากกว่า ไม่ได้เล่นเป็นแบนด์ ส่วนแบนด์เล่นด้วยกันสมัยซ้อมกับเพื่อนบ้างอะไรบ้างกระจัดกระจายกันไป

เริ่มรู้จักกับดนตรีร็อก

จริง ๆ ประกายเลยก็คือมันมาจากเพลงของคาราบาวก่อน แล้วก็ หิน เหล็ก ไฟ ก็จะมาห่างกันไม่กี่ปี แต่ความเป็นร็อกจริง ๆ เนี่ย เพลงของ อำพล ลำพูน เพลงของพี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ อยู่ในเพลงของใครหลาย ๆ คน เราก็เริ่มสัมผัส เริ่มคุ้นหู มันอยู่ในนั้น แล้วก็เหมือนเราเป็นวัยรุ่นวันนึงเราต้องฟังเพลงเหล่านี้ เป็นร็อก ป๊อปร็อก ก็ไล่เรียงไล่ลำดับไปเรื่อย ๆ จนมาเจอ หิน เหล็ก ไฟ เปิดโลกเลย เค้าไปเรียนมาจากไหน ทำได้ยังไง แล้วเราจะแกะยังไงวะ คือไม่มีทางแกะได้ แกะยังไงก็ไม่เหมือน เคยแกะเพลง “เพื่อเธอ” สมัยเรียนไม่เหมือนอ่ะ วางนิ้วยังไง E มันก็แค่คอร์ด E ใช่ไหมครับ มันไม่มีวิธีการจับโน๊ตตัวอื่นเพื่อที่จะให้มันเป็น E แบบที่เป็นป๊อปได้ จะแกะได้แค่บางโน๊ตในนั้นเท่านั้นครับ ถัดจากนั้นก็ฝึกเล่นฝึกอะไรไปเรื่อย แล้วก็เริ่มมีบทเรียนเข้ามา เริ่มดูวิดีโอไทยที่สอน อาจารย์ปราชญ์บ้างอะไรอย่างนี้ครับ เมื่อก่อนมันมีวิดีโอฝรั่งแต่เราก็ไม่มีตังซื้อ แล้วก็ขอคำแนะนำได้เล็ก ๆ น้อย ๆ วิธีการจับปิ๊กนู่นนี่นั่น ดันสายหรือคันโยก มันมีแค่นั้น มีไม่กี่คนที่อยู่ลพบุรี ถ้าคุณไม่มีเวลาจริง ๆ ไม่ได้คุ้นเคยกับนักดนตรีเหล่านั้นคุณก็เล่นเองแกะเอง พอวิดีโอมาก็เริ่มฝึกกับวิดีโอบ้าง

เริ่มรู้จักกับเพลงเมทัล

มันได้ยินแว่ว ๆ จากไหนก็ไม่รู้ ตลาดหรือที่ไหนไม่รู้ เหมือนพี่ที่ลพบุรีเปิดให้ฟัง จริง ๆ ได้ฟังเพลง “Cocaine” ของ Eric Clapton ก่อน ทำไมริฟฟ์มันเพราะจังวะ หลังจากนั้นก็ได้ยิน Metallica ก่อนเลย เพลง “Enter Sandman” แล้วก็ไปตามหาอัลบั้มนั้น ก็ไปซื้อเทปหลังจากที่พอมีเงินบ้างแล้ว เพราะสมัยอยู่ลพบุรีที่เล่นดนตรีกลางคืน พอฟัง Metallica ทำไมปลุกระดมขนาดนี้ ก็เลยอยากจะตามวงอื่นบ้างที่พอจะตามได้ในสื่อที่มีอยู่ตอนนั้น ซื้อวง Kiss มาฟังเป็นเทป แล้วก็กลับไปไล่ฟังมาตรฐานเลย Guns N’ Roses เพื่อนอีกคนนึงที่เรียนกรุงเทพมันโดนดรอปเรียนแล้วต้องไปเรียนลพบุรีก็ฟังตามมัน เพลงมันแต่ละเพลงเนี่ยไม่ธรรมดาเลย Guns N’ Roses มันเอามาเปิดให้ฟังในห้องขลุกอยู่ด้วยกันก็เลยสัมผัสได้ ก็มาฟัง Red Hot Chili Peppers ค่อย ๆ ไล่มาเริ่มฟังหลากหลายมากขึ้น ก็จะมีพวกเมทัลทั้งหลาย Megadeth ประมาณนั้นครับ แล้วก็จะเริ่มตามกีต้าร์ฮีโร่ ก็จะมี Slash แล้วก็เริ่มลึกลงไปเป็น Led Zeppelin เป็น Jimmy Page แล้วก็ฟัง Jimi Hendrix ฟังตามทางของนักดนตรี

คอนเสิร์ตเมทัลที่เคยไปดู

มี Machine Head นั่งรถไฟฟ้าไปดูเลยครับ ได้มีโอกาสเจอวงด้วย เค้าสุภาพมาก แล้วก็ขอลายเซ็นลงบนเสื้อ ไม่รู้นะเขานิสัยดีอ่ะ วงร็อกหลาย ๆ วงนิสัยดี เรียบร้อย

ความชื่นชอบที่มีต่อ X-Japan

จริง ๆ ชอบ X-Japan แล้วที่เหลือพี่พีก็ไม่ได้รู้ชื่อเพลง ไม่ได้ศึกษาเลยว่าวงไหนอะไรยังไง แต่ถ้าฟังก็รู้เลยแบบนี้เจร็อก รู้ว่าซาวด์ญี่ปุ่นประมาณนี้ แบบนี้ มีท่อนพีค ๆ มันมีสำเนียงของมันอยู่ก็จะรู้ว่าเป็นเจร็อก แล้วก็เริ่มฟังเจร็อกจากการ์ตูนตั้งแต่สมัยดราก้อนบอล ทำไมเพลงมันติดหูจังวะ ไม่รวมโดเรม่อน ฮา ๆๆ เมื่อก่อนจะซื้อวิดีโอดู ช่วงที่จะเป็นดีวีดีอ่ะ วีดีโอตกยุคก็ไปซื้อม้วนซื้ออะไรมาดู

ไปเยี่ยมโรงงานทำกีตาร์ Gibson ถึงอเมริกา

กีต้าร์เยอะมาก รุ่นพิเศษที่คุณไม่เคยเห็นอยู่ที่นั่นหมดเลย แล้วเค้าก็ให้หยิบอะไรได้หมดเลยนะ แต่ก็หยิบมาเป็นที่ระลึกนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วเค้าให้เดินดูตั้งแต่ขั้นตอนแรกนำไม้มาจากประเทศนี้ ๆ ไม้หายาก แห้งประมาณนี้ ๆ จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ที่นั่นเป็นหมื่น ๆ ตัว เยอะมากในแต่ละส่วน ตื่นเต้นมาก แล้วตอนที่ไปเยี่ยมฝรั่งเค้าเกียรติความเป็นศิลปินมาก ต่อให้คุณจะอยู่ประเทศไหน จะเป็นศิลปินที่ไหน ระดับพรีเมี่ยมหรือระดับไหนก็แล้วแต่ เขาให้เกียรติเราหมด แล้วพี่ที่พาไปเป็นพี่ที่ไปอยู่ที่นู่นเค้าก็แนะนำว่าเป็นศิลปินจากเมืองไทยมาอะไรอย่างนี้ เป็น Manager ใหญ่ที่อยู่ในโรงงาน Gibson ก็ไปเยี่ยมเพราะว่าเราชอบกีต้าร์อยู่แล้ว เราอยากไปดูฐานการผลิตของมัน แล้วเขาก็ให้เซ็นลายเซ็นหน้าบอร์ดไว้ก็รู้สึกดีใจ ก็พาไปดูโรงงาน พาไปรู้จักผู้บริหาร เพราะเค้าไปอยู่ที่นั่น 20 ปีแล้ว ทำงานอยู่ที่นั่นจนคุ้นเคย 

การร่วมงานกับพระสันตะปาปา

เคยได้รับเกียรติคนที่อยู่ข้างในครับ ถูกคัดเลือกให้ไปเชื่อมสัมพันธไมตรี แล้วก็เราทำศาสนสัมพันธ์อยู่ ประเทศไทยเขาก็จะเลือกอยู่ไม่กี่คน ก็มีพี่พีและก็ท่าน ว.วชิรเมธี อาจารย์ทองรัตน์ แล้วก็มีผู้ใหญ่ในทางคริสต์บ้านเราด้วยคนนึงที่ใหญ่สุดไปร่วมด้วย แล้วก็เหมือนจะเอามารวมกันทั้งโลกเลยนะ คัดเลือกมา เขาก็รู้ว่าเราเป็นศิลปิน ซึ่งเค้าก็ทำกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก่อนเข้าไปก็จะเช็คประวัติ คนนี้มาจากไหน เข้าไปในเขตนั้นได้ไหม แล้วก็จะมีนักดนตรีที่เล่นอยู่บนเวที นักดนตรีอีกหลายประเทศที่ต้องมาร้องเพลงเพื่อสันติภาพโน่นนี่นั่น มีโปรดิวเซอร์ ก็มีโปรเจกต์ร่วมกันในอนาคตครับแต่ยังไม่ได้เริ่มงาน

เพื่อนนักดนตรีของพี สะเดิด อยู่ทั่วทุกมุมโลก

ก็อย่างยุโรปเวลาพี่พีไปจะชอบไปเที่ยวที่บาร์และก็ไปดูเขาเล่น แล้วก็จะรู้จักนักดนตรีเหล่านั้น แม้กระทั่งเวลาเราไปงานไปเล่นใน Opera Hall ก็จะมีพวกที่ทำเครื่องเสียงเก่ง ๆ หลาย ๆ ที่ก็จะมีนักดนตรีท้องถิ่นมาดูเรา แล้วก็เอาเครื่องดนตรีอะไรมาให้เราเซ็น เราก็รู้สึกเป็นเกียรติมากเลยนะ เคยไปเล่นอยู่ที่นึง วันนั้นไปเล่นมี Toto ไปเล่นด้วย พวกพี่ก็เล่นอยู่ข้างในฮอลล์คอนเสิร์ต วงเค้าก็มาดูเราเล่น เราก็งง ๆ อยู่ เราจะได้มีโอกาสแบบนี้บ่อย ๆ ซึ่งบางครั้งมันอาจจะดูธรรมดาเวลาเราพูดนะ แต่ถ้าเค้ามาเมืองไทยมันยิ่งใหญ่

ดนตรีไม่มีเส้นแบ่ง

ดนตรีมันไม่ใช่เรื่องของสงครามครับ ดนตรีนี่ยุติสงครามนะถ้าตามประวัติศาสตร์จริง ๆ นักศิลปะ ศิลปะยังคงอยู่ คนคนนั้นก็คงอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้อยู่ ดนตรีมันไม่ใช่การแบ่งแยก แนวไหนมันก็คือดนตรี ก่อนที่จะมาเป็นดนตรีร็อก ก่อนที่จะมาเป็นดนตรีแจ๊สที่ทุกคนมองว่าดี เมื่อก่อนมันก็เป็นดนตรีที่ไม่สมบูรณ์มาก่อนก็คล้าย ๆ ดนตรีพื้นบ้านของเราที่ค่อย ๆ ไล่อายุงานมันมาเท่านั้นเอง แต่ทุกคนไปให้ค่ามันต้องเป็นแบบนี้ ๆ ทุกอย่างมันถูกตีความมาผิดอยู่หลายอย่างเหมือนกันครับ ว่าดนตรีแนวนี้ต้องแบบนี้เท่านั้น แนวนี้ต้องอยู่บ้านนอกเท่านั้น พี่มองว่าถ้าทุกคนเปิดรับ เอาแค่ยุคเราก่อนที่ฟังดนตรีที่เป็นรสนิยม เราเปิดรับแล้วเราถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้ ดนตรีที่เราฟังเนี่ยรุ่นพวกคุณก็ฟังได้ แจ๊สน้อง ๆ ก็ฟังได้นะ ร็อกหนัก ๆ แม่ก็สามารถฟังได้ไม่ชอบไม่เป็นไร หรือให้เด็กถ่ายทอดไปถึงเด็กเนี่ย พี่มองว่าถ้ามันถูกถ่ายทอดถูกวิธี มันจะมันจะไม่เป็นลูกโซ่ที่ทำให้ว่ารู้สึกดนตรีมันจะถูกแบ่งแยก แต่บังเอิญว่าโลกเรามันเป็นโลกที่สามที่สี่ก่อนหน้านี้ มันก็เลยถูกแบ่งแยก พี่ก็เลยมีความสึกรู้สึกว่าเราไม่อยากแบ่งแยกเพราะเราอยากจะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้ เราอย่าแบ่งแยก แต่กับคนอื่นพี่ก็ไม่ได้มาดราม่า ต่อให้เขาไม่ได้เอาไปถ่ายทอดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเริ่มต้นจากเราคนนึงแล้วเนี่ยพี่ก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ทุกคนไม่แบ่งแยก ถ้าเอาเข้าจริง ๆ แล้วเนี่ยดนตรีมันก็เป็นสิ่งเดียวกันที่เชื่อมโลกใบนี้ ทำให้ทุกคนได้มาเจอกัน ดนตรีมันก็ทำให้พี่ได้เดินทางจริง ๆ แล้วก็เป็นดนตรีพื้นบ้านด้วย แล้วเราเลือกที่จะเล่นดนตรี เล่นสดถ่ายทอดเสียงดนตรีจริง ๆ ที่ไม่ใช่ Backing Track มันยิ่งจะทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจว่าเราพามันไป มันอาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ คนดูอาจจะสองร้อยคนก็ตามแต่ อย่างน้อยสองร้อยคนดูนั้น อาจจะ 20 คนดูนั้น เค้าก็จะไปพูดต่อว่าเราก็มีวัฒนธรรม เราก็มีอารยธรรมของเรา คนไทยก็มีอะไรของเรา ฝรั่งก็ไม่เห็นโน๊ตของเรา เมโลดี้ของเรา ความที่เค้าไม่เคยได้ยินนี่แหละ เค้าก็เลยชอบเรา แต่ถ้าเราไปเล่นโน๊ตที่มันตรงกับเค้า วิธีการเดียวกับเค้า เค้าก็ไม่สงสัยเค้าเฉย ๆ แล้วเพลงคุณเพลงอะไรล่ะ ก็ตรงนี้ความเป็นเราทุกอย่างมันคือความเชื่อมกัน พี่มองว่าดนตรีมันเป็นสิ่งที่เชื่อมโลก เชื่อมเป็นมนุษยชนเข้าหากัน 

ฝากถึงคนที่ยังชอบแบ่งแยกแนวดนตรี

พี่มองว่าส่วนนึงเค้าอาจจะยังไม่ประมวลหรืออ่านหนังสือเล่มนี้ยังไม่จบ พี่มองแบบนั้น เหมือนเราถนัดแค่ทำถ้วยกระดาษเนี่ยเราก็อาจจะอยู่ในโลกของเรา จริง ๆ ถ้วยกระดาษมันอาจจะทำมากกว่านี้ก็ได้ แต่เบื้องต้นก็อยากให้เปิดใจรับกับดนตรี แล้วก็ไม่รังเกียจว่าอันนี้คือดนตรีแบบรากหญ้า พอไปเจอแล้วก็มาเหยียดอะไรอย่างนี้ ก็อยากจะให้ทุกคนเปิดรับกับเสียงดนตรี จริง ๆ แค่เปิดประตูออกไปเงี้ยหูฟังนิดนึงมันก็จบแล้ว เพราะรากมันมาจากที่เดียวกันหมดเลย รู้ไหมว่าเวลาพี่เห็นศิลปินรุ่นใหญ่ของฝรั่งจากคนละสายเขามาเจอกันเค้าน่ารักมาก เห็นไหมเวลา Slash มาเจอกันกับ Eric Clapton อ่ะ โหแม่งโคตรน่ารักเลย สองคนเค้าหยอกล้อกัน แซวกันว่ากูเล่นอย่างมึงไม่ได้หรอก แต่ Slash กูฟังเพลงมึงนะ อารมณ์นั้นน่ารักมากเลย เหมือนที่พี่ไปเจออาจารย์กิตติ กีตาร์ปืน อาจารย์กิตติก็เอ็นดู คุณน่าจะมีภาพเหล่านั้นและก็เห็นภาพเหล่านั้น จำและถ่ายทอดถึงกัน พี่ไปข้าวสารพี่ก็ไปแจมนะ คือเค้าเชิญเราไง เค้าเห็นเรา มันมีความสุขนะมันเป็นภาพจำที่แบบมหัศจรรย์ ยกตัวอย่างมีนักดนตรีที่เล่นกีตาร์เก่งมาก เล่นเมทัล เล่นร็อกคือยาก ๆ ชีวิตเขายาก ๆ เล่นยาก ๆ ผ่านเพลงมาเยอะ พี่พีเปิดรับสมัครมือกีต้าร์ก็ได้รับเกียรติจากเมื่อกีต้าร์เหล่านั้นมาเล่นเพลงพี่พี ก็ไปไม่เป็น ซึ่งเพลงเรามันต่างกัน แต่พี่ชื่นชมคนเหล่านี้นะ เค้าบอกเค้าเล่นไม่ได้ก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยเราก็ได้มารู้จักกัน แต่อีกหลาย ๆ คนที่ไม่ยอมเปิดใจรับพี่มองว่าเสียดายโอกาสที่เขาไม่กล้าจะศึกษาตรงนี้หรือไม่ยอมศึกษาตรงนี้ เมโลดี้ไทยของเรายิ่งน่าศึกษา 

โอกาสที่จะได้เห็นพี สะเดิด ทำเพลงเมทัลแบบเต็ม ๆ

แน่นอนครับ เดี๋ยวจะส่งข่าวให้ทราบครับ

พูดถึง Headbangkok

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ ทีมงานทุกคนวันนี้ถือว่าให้เกียรติและก็เปิดมุมมองที่ใครหลาย ๆ คนไม่รู้ว่าชีวิตเราชอบอะไรอยู่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พี่ไม่ค่อยได้พูดที่ไหนครับ ก็ขอให้มีคนติดตามเยอะ ๆ และก็ขอให้ดนตรีที่ทำอยู่ บทความทุกบทความ ที่สัมภาษณ์กับศิลปินทุกคน ขอให้มันอยู่คู่กับโซเซียล อยู่คู่กับโลกใบนี้ ก็ขอให้ดนตรีได้บำบัดทั้งคนที่เล่นดนตรีเอง บำบัดคนที่เล่นดนตรีไม่ได้ หรือฟังทุกคนให้มีความสุขกับคำว่าดนตรี ก็ขอให้น้องทุกคนทำต่อไปเพราะว่าพี่มองว่ามันคือสิ่งที่งดงามมาก ๆ ที่เราจะฝากอะไรไว้กับแผ่นดินนี้ก่อนที่เราจะ ไม่ได้มีชีวิตอยู่ตรงนี้ในเบื้องหน้า ขอให้ดนตรีเป็นแรงบันดาลใจกับแฟน ๆ ของน้อง ๆ ทุกคน เป็นแรงบันดาลใจกับรุ่นต่อ ๆ ไป อ่านบทความนี้แล้วขอให้มีแรงมีกำลังใจ ถูกใจ ขอให้มีความสุขครับ 

ฝากผลงานและช่องทางการติดตาม

ล่าสุดก็ซิงเกิ้ล “เขาเรียกผมว่าเอเรน” ในช่องทาง YouTube บน Streaming ทั้งหมด หลัก ๆ เลยก็จะเป็น YouTube แล้วก็ Fanpage ยังไงฝากติดตามเพลงต่อไปด้วยว่าจะมีอะไรออกมาครับ

ทาง Headbangkok ต้องขอขอบคุณพี่พี สะเดิด และคุณรุ่ง ผู้จัดการ สำหรับบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ด้วยครับ