ในช่วงเวลาปัจจุบันที่รัฐบาลทหารกำลังรันวงการอย่างเกรี้ยวกราดดุดันอยู่ในตอนนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นการพักผ่อนของเหล่านักการเมืองหลายพรรคหลายฝ่ายไปโดยปริยายเนื่องจากไม่มีบทบาททางการเมืองให้กระโดดลงมาเล่นอีกต่อไปอีกพักใหญ่ และนั่นก็ทำให้เรามีโอกาสและเวลาอันพอเหมาะพอดีสำหรับการนั่งพูดคุยกันในวันสบาย ๆ กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งชีวิตไม่เคยขาดเพลงร็อกเลยแม้แต่วันเดียว วันนี้เราจะมาคุยกันสบาย ๆ ไร้หัวข้อการเมืองเจือปน มาทำความรู้จักกับอีกแง่มุมของผู้ชายคนนี้ที่ร็อกไม่น้อยไปกว่าพวกคุณทุกคนกันให้มากขึ้นครับ

เริ่มฟังเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่?

เริ่มฟังเพลงก็อาจจุอายุซักประมาณ 8-10 ขวบครับ ตอนนั้นยังอยู่เมืองไทย ก็จะเริ่มฟังเพลงสากล จนกระทั่งพออายุ 11 ก็ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ อยู่โรงเรียนประจำ ก็จะฟังเพลงค่อนข้างมาก เพราะว่าจริง ๆ อยู่โรงเรียนประจำก็ไม่ค่อยมีอะไรทำ ค่อนข้างเหงา ก็จะเริ่มฟังเพลงแต่ว่าจะฟังได้หลากหลาย แล้วก็เริ่มชอบเพลงในแนวร็อกมากขึ้น มากขึ้น ช่วงนั้นก็จะเป็นช่วงปลายทศวรรษ 70’s กำลังจะเข้าสู่ต้น 80’s แนวฮาร์ดร็อกหรือเฮฟวี่เมทัลก็เริ่มขยายเข้ามาสู่กระแสหลักมากขึ้น

จริง ๆ ตั้งแต่กลับมาเมืองไทยเนี่ย ก็ฟังพวก Deep Purple, Led Zeppelin, Scorpions อะไรยังงี้ครับ ตอนอยู่ที่อังกฤษตอนนั้นก็จะเริ่มมีวงที่ออกมาในแนว New Wave of British Heavy Metal แล้วก็มี Motorhead, Iron Maiden, Judas Priest อะไรพวกนี้ครับ แต่ว่าผมก็จะชอบอยู่แค่ Motorhead ครับ Iron Maiden กับ Judas Priest นี่เฉย ๆ แล้วก็พวกที่แตกตัวออกมาจาก Deep Purple ทั้งหลายก็ฟัง Rainbow, Whitesnake นี่ได้ไปดู ส่วนฝั่งอเมริกานี่ก็คงไม่ถึงกับแนวเมทัล แต่ว่าพวก Foreigner อะไรพวกนี้ก็ชอบ แล้วพอเรียนจบกลับมาเริ่มทำงาน ก็จะมายุคกรันจ์ พวก Pearl Jam นี่ก็ได้ไปดูตอนที่มาเมืองไทย แล้วก็ Nirvana แน่นอน Soundgargen ก็ชอบบ้าง แต่จริง ๆ ชอบ Audioslave มากกว่า

วงไหนที่รู้สึกประทับใจที่สุด

ถ้าพูดถึงเพลงที่ฟังแล้วก็ชอบมาก ๆ ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ มาเนี่ย ก็จะเป็นวง Eagles ครับ ก็งานน้อย ไม่ค่อยขยันเท่าไหร่พวกนี้ แล้วก็จบลงค่อนข้างที่จะเร็ว

คิดว่าอะไรคือสเน่ห์ของเพลงร็อก?

ผมคิดว่ามันมีหลายองค์ประกอบนะครับ อันที่หนึ่งเนี่ย ผมชอบฟังเพลงให้มันได้อารมณ์ สองเนี่ย ถ้าพูดถึงแนวร็อกก็จะมีเรื่องความสามารถ เนื้อเพลงมันก็ขำ ๆ บ้างอะไรบ้าง

อัลบั้มไหนที่ชอบมากที่สุด

เดี๋ยวนี้โชคดีอย่างก็คือว่าพอนักดนตรีต้องหาเงินไปเรื่อย ๆ เนี่ย ก็จะออกอัลบั้มที่มันเป็น reissue, remastered เพิ่มเดโม่ เพิ่มมิกซ์ใหม่ ๆ เข้ามา เพราะงั้นอัลบั้มเพลงส่วนใหญ่ที่เป็นงานคลาสสิกก็จะฟังอยู่ตลอด อย่างตอนนี้ก็เพิ่งซื้อ Fleetwood Mac ที่ออกมา 5-6 แผ่น แล้วก็ Bruce Springteen ชุด The River ที่เอาออกมาขยาย ได้ฟังฉบับที่เค้าส่งให้บริษัทแผ่นเสียงก่อนที่จะออกมาเป็นอะไรแบบนี้ ก็ยังฟังเพลงเก่า ๆ อยู่ ปีที่แล้ว Led Zeppelin นี่ออกมาดีมากเลย ออกมาใหม่นี่นอกจากทำซาวด์ให้ดีขึ้นแล้วก็ยังมีแถมให้อีกหนึ่งแผ่น ก็ได้กลับไปฟังพวกนี้

ได้ฟังเพลงยุคใหม่บ้างไหม?

Foo Fighters? ก็ไม่ใหม่แล้ว แต่ว่า Foo Fighters นี่ผมก็ทึ่งนะ ไม่นึกว่าเค้าออกมาแล้วเค้าจะรอด กลายเป็นว่าตอนนี้นี่เค้าน่าจะประสบความสำเร็จไม่น้อยกว่า Nirvana แล้วตอนเค้าเล่นเพลงคัฟเวอร์ เอาเพลงอะไรมาทำก็ทำได้ดีเกือบหมด แล้วก็ฟัง Jack White, Dead Weather อะไรประมาณนี้ครับ

ตอนอยู่อังกฤษได้คลุกคลีกับแวดวงดนตรีที่นั่นบ้างไหม

ก็ไปดูคอนเสิร์ตนะครับ อย่างที่บอก แนวร็อกตอนนั้นก็ดู Whitesnake, Foreigner แนวป๊อปก็ดูด้วย พวก The Police อะไรพวกนี้ก็ไปดูมา

วัฒนธรรมการชมคอนเสิร์ตที่ไทยกับอังกฤษต่างกันไหม

ผมว่ามันต่างกันที่ยุคสมัยมากกว่าครับ เพราะว่าตอนหลัง ๆ เนี่ยต้องยอมรับว่าคอนเสิร์ตมันมีความเป็นโชว์มากขึ้น สมัยแรก ๆ เนี่ยแน่นอน ด้วยเทคโนโลยีหรือด้วยอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องของการเล่นบนเวทีเป็นหลัก ตอนหลังก็ต้องมีจอ มีวิดีโอประกอบ มีฉาก มีเอฟเฟกต์ ฯลฯ ผมว่ามันก็จะคนละอารมณ์กัน ผมว่ามันเป็นเรื่องของยุค เรื่องของอะไรต่าง ๆ ค่าตั๋วนี่ก็เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก มหัศจรรย์มาก

สะสมแผ่นซีดีบ้างหรือเปล่า?

ผมเนี่ยเริ่มต้นเลยจะเป็นเทปคาสเซ็ต (บ่งบอกอายุมาก) บางทีก็จะซื้อแผ่นเสียง แต่ว่าที่ไม่ค่อยนิยมซื้อแผ่นเสียงนี่เพราะว่าเก็บยาก แล้วเราก็เดินทางบ่อย ทีนี้ความทุกข์ใหญ่หลวงครั้งแรกก็คือตอนซีดีเข้ามา เพราะว่าหลังจากสะสมเทปคาสเซ็ตมาเยอะมากเนี่ย ก็ต้องค่อย ๆ มาเริ่มเปลี่ยนเป็นซีดี ผมจำได้ตอนซีดีมาเนี่ย แผ่นที่ทุกคนซื้อกันแรก ๆ เลยก็คือ Dire Straits – Brothers in Arms จากนั้นเราก็ต้องมาค่อย ๆ เก็บ มีเงินก็ค่อย ๆ เก็บแผ่นที่เราชอบมากที่สุดจากคาสเซ็ตมาเป็นซีดี จนกระทั่งมาเจอความทุกข์ครั้งที่สองก็คือเอ็มพีสาม ที่ใช้เวลาไม่รู้กี่วันนั่ง RIP ซีดีที่มีอยู่ ไม่รู้กี่ร้อยแผ่น แล้วยุคแรก ๆ เครื่องเล่นเอ็มพีสามก็จะจุไม่ค่อยมาก ก็ต้องมานั่งเลือกว่าเพลงไหนจะเก็บไว้เพลงไหนจะตัดออก บางทีก็ต้องยอมลดคุณภาพของไฟล์เพื่อลดขนาด พอต่อมาเอ็มพีสามมีมากขึ้นเราก็พยายามอัพเกรดให้ไฟล์มันคุณภาพดีมากขึ้น เพราะงั้นตอนนี้ที่ใช้อยู่หลัก ๆ ก็คือ iPod Classic ก็มีปัญหาสองปัญหาตอนนี้เพราะว่าตอนนี้ 160 GB เต็มแล้ว ผมก็กำลังสงสัยว่าเมื่อแบตเตอรี่มันเสื่อมเนี่ย ผมจะมีแทนหรือเปล่า

มีร้านขายซีดีที่ซื้อประจำไหม?

เมื่อก่อนจะเป็นลูกค้าประจำที่สยามสแควร์ โดเรมี! ใช่ โดเรมี อันนั้นจะเป็นร้านประจำอยู่นานมาก ทีนี้พอตอนหลังเนี่ยเราก็ซื้อซีดีน้อยลง แล้วพอเน็ตเข้ามาก็สั่งซื้อจาก Amazon ง่ายกว่า แล้วก็สั่งล่วงหน้าได้อะไรได้ด้วย

คิดว่าอะไรทำให้ต่างประเทศทำเพลงได้หลากหลายกว่าไทย

อันนี้ก็เป็นการสะท้อนปัญหาของการเมืองและสังคมไทย ต้องยอมรับว่าต่างประเทศหรือว่าโลกตะวันตกเค้ามีพื้นฐานในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก แทบจะเรียกได้ว่าอยากจะพูดอะไรก็ได้ ยกเว้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวาย ยกตัวอย่างเช่นไปตะโกนว่า “ไฟไหม้!” ในโรงหนัง หรือว่าไปยุยงให้เกิดความรุนแรงอะไรทำนองนั้น ซึ่งแม้กระทั่งตรงนั้นบางทีเราก็ยังเห็นปรากฎอยู่ แต่ว่าสังคมเราเนี่ยจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกค่อนข้างมาก และก็อาจจะโดยวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมตะวันออกเนี่ย มันมีหลายเรื่องซึ่งเรามองว่ามันไม่เหมาะสมและก็ถ้าใครแสดงออกมาก็จะถูกสังคมตำหนิ แต่ว่าที่มันเป็นตัวปัญหาก็คือจากการพูดถึงค่านิยมของสังคมแล้วเนี่ย มันถูกแปลงออกมาเป็นลักษณะกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพลง เรื่องภาพยนตร์ เรื่องละครก็มีปัญหามาก ผมก็เคยคุยกับคนที่เค้าทำละคร ซึ่งก็เทียบเคียงได้กับเพลงว่าทำไมมีแต่เพลงรัก ผมก็ถามเค้าว่าทำไมคุณไม่สร้างละครที่มันสะท้อนสภาพปัญหาอะไรต่าง ๆ เค้าก็บอกว่าเค้าทำไม่ได้ สมมติทำเนี่ย จะไปสะท้อนปัญหาในวงการตำรวจ เอาว่าแค่ใส่เครื่องแบบเล่นนี่ก็ต้องขออนุญาตกันแล้ว ในที่สุดเค้าก็บอกว่าง่ายที่สุดสำหรับเค้าละครไทยก็คือประกอบไปด้วยคนที่ไม่มีอาชีพ อยู่บ้านใหญ่ ๆ รักใคร่ตบตีกัน แล้วก็อยู่อย่างนั้น

แต่ว่าผมว่า ดนตรีของไทย เพลงเพื่อชีวิตก็เป็นการเคลื่อนไหวของศิลปินกลุ่มนึงที่แสดงให้เห็นว่าเค้าก็อยากจะสะท้อนอะไรออกมา แล้วก็ทำได้ดี ผมก็ยังชื่นชมพงสิทธิ์ [คัมภีร์] เขาเป็นคนที่ใช้ภาษาได้ดี เพลงเพราะ แล้วผมก็ยอมรับความสามารถของคาราบาวในการที่จะหยิบกระแสในเรื่องต่าง ๆ มาทำเป็นดนตรีได้

ผมคิดว่าในที่สุดสังคมเราก็ต้องเปลี่ยน ในที่สุดเราก็ต้องขยายให้เกิดการแสดงออกอย่างเป็นเสรีมากขึ้น

รู้สึกประทับใจอะไรในตัวพงสิทธิ์ คัมภีร์?

คือผมเป็นคนชอบเพลงร็อกนะ แต่ผมรู้สึกว่าเพลงร็อกกับภาษาไทยเนี่ยมันทำได้ยาก เพลงแร็ปจะง่ายกว่า เพลงร็อกนี่มันจะยากตรงที่ว่าคำของเรามีวรรณยุกต์ คือไม่งั้นก็ต้องใช้วิธีอย่างคุณอัสนิ [โชติกุล] ก็คือลากเสียงไปเลย มันก็จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พอเวลาฟังบางทีสำเนียง ภาษามันจะเพี้ยน ๆ เราก็เลยจะมีความรู้สึกมันขัด ๆ แต่ว่าวันที่ไปดู Vaccines บังเอิญวงเปิดเป็น The Yers ผมก็ยังฟังพวกเค้าอยู่ เค้าทำได้ดีนะครับ ค่อนข้างที่จะลงตัว

แต่ว่าเพลงของคุณพงสิทธิ์เนี่ย ผมชอบที่มันมีความสละสลวยของภาษา มีความลุ่มลึกและก็มีความไพเพราะ และแกก็ขยันนะ งานออกมาเยอะมาก

คิดว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองขัดแย้งกับเพลงร็อกไหม?

ผมไม่ค่อยคิดนะครับว่ามันมีอะไรขัดแย้งกัน มันเป็นเรื่องของความชอบ/ไม่ชอบ ตอนเรียนหนังสือเราก็จะเห็นคนที่ถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนผมก็เห็นเค้าชอบเพลงร็อก ไม่แปลกอะไร

วงดนตรีที่อยากดูก่อนตาย?

ที่เสียดายเพราะไม่เคยได้ดูเลยก็ The Rolling Stones สองวงใหญ่ ๆ ที่ไม่รู้ทำไมถึงได้พลาดอยู่เรื่อย ๆ ก็คือ The Rolling Stones กับ U2

คนที่เจอพี่มาร์คตอนมาดูคอนเสิร์ตมีปฏิกิริยายังไงบ้าง

ส่วนใหญ่ที่เจอกันเค้าเห็นเค้ารู้จักก็ทักทายกันดี ขอถ่ายรูปบ้างอะไรบ้าง แต่ก็ดีครับ ให้ความเป็นส่วนตัว เค้ารู้ว่ามาเป็นการส่วนตัว

ทราบปีที่แล้วไปดูคอนเสิร์ต Muse มา เพิ่งได้ดูเป็นครั้งแรกหรือเปล่า

ใช่เพราะ เพราะว่าแกเบี้ยวเรามาครั้งนึงไม่ใช่เหรอ เมื่อปี ’49-’50 หรือไงเนี่ย ชอบมากครับ ชอบมาก เพราะว่าจริง ๆ คือตามงานเค้าตั้งแต่แรกเลย ตั้งแต่ชุดแรกมาตลอด คิดว่ามีครบ แล้วก็… ฝีมือเค้าดี และเค้าเล่นสนุก แต่ว่าเซ็ตลิสต์ของ Muse ก็ไม่ค่อยเปลี่ยนนะครับ เวลาจะดูคอนเสิร์ตเราก็ชอบไปดูว่าเซ็ตลิสต์เค้าเล่นที่อื่นเล่นยังไง ยิ่งวงเก่า ๆ พอมาเอเชียสิ่งนึงเลยก็คือพยายามจะเล่นเอาใจแฟน เอาเพลงเก่า ๆ เพลงดัง ๆ มาเล่นไรงี้

คอนเสิร์ตไหนที่ประทับใจมากที่สุด

เชื่อหรือไม่? ผมชอบเพลงร็อกนะครับ แต่ว่าตอนที่ Pet Shop Boys มาเมืองไทย ผมว่าเค้าเล่นได้ดีมาก ๆ ประทับใจ แต่จริง ๆ ก็ Bruce Springteen ได้ดูยุค The River นั่นแหละครับ อันนี้ก็ชอบอยู่แล้วเพราะว่าเค้าสุดยอด เล่นสดเล่นสามชั่วโมงพูดคุยอะไรอยู่ตลอดเวลาไม่เหน็ดไม่เหนื่อย / ผมชอบวง R.E.M. มาก ตอนที่ได้ดู R.E.M. ก็ชอบ / Eagles วงที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก ก็ประทับใจ เสียดายว่ามาตอนทั้งคนดูคนฟังแก่แล้ว

[หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ไปได้ไม่นาน เกล็น ฟราย สมาชิกของวงก็เสียชีวิตลง ขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้ด้วยครับ – ผู้เขียน]

รบกวนจัดเพลย์ลิสต์เพลงโปรดที่ชอบมากที่สุด

(นิ่งไปชั่วขณะ) ยากนะ … ผมก็จะมีเพลงที่ย้อนกลับไปฟังอยู่เรื่อย ๆ นะครับอย่าง [เดวิด] โบวี่เนี่ย ผมก็จะฟังพวก “Ashes to Ashes“, “Space Oddity” / Eagles นี่จะเยอะมากเลย จาก The Long Run กับ Hotel California เนี่ยหยิบเพลงไหนมาก็ได้ ความมหัศจรรย์อย่างนึงคือคนเรามันจะจำเนื้อเพลงได้ อย่างอื่นจำยากแต่กับเนื้อเพลงนี่จำง่าย / R.E.M. โดยเฉพาะ “Losing My Religion” อะไรงี้นะครับ / U2 เพลง “One”, “With or Without You” / Led Zeppelin นี่ก็ได้ครับ ได้เกือบทั้งนั้นเลย

วงดนตรีที่หนักสุดเท่าที่เคยฟังมา

ผมว่า Motorhead นี่แหละ น่าจะถือว่าพอสมควรเลย

และจากที่พี่มาร์คแกบอกเอาไว้ตอนช่วงต้นของบทสัมภาษณ์ว่าไม่ค่อยได้ฟังวงใหม่ ๆ เท่าไหร่ ทางทีมงานของเราก็เลยจัดแจงเอาเพลง “True Friends” ซิงเกิลล่าสุดของวง Bring Me the Horizon วงร็อกตัวท็อปจากประเทศอังกฤษมาลองให้ฟังและวิจารณ์กันดู

ก็ต้องบอกว่าสไตล์มันคล้ายกับ Linkin Park มากเลยนะครับ ทั้งในแง่ของการร้อง ทั้งในแง่ของดนตรี เข้าใจว่ามีความพยายามที่จะดึงเอาพวกเครื่องสายเข้ามาเพื่อหรูหราอลังการมากขึ้น เพิ่งได้ยินว่าก่อนนี้ไม่ใช่แนวนี้ ก็แสดงว่าพยายามที่จะเข้าสู่กระแสหลักมากขึ้น … ก็ฝีมือฝีไม้ใช้ได้นะครับ แต่ว่าสำหรับวงที่เติบโตมาจากทางนั้นก็จะดูอันตรายว่าจะเสียอัตลักษณ์ตัวเองไปหรือเปล่า




เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่อทุกคนดูคลิป/อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบแต่ละคนก็จะมีมุมมองและความเห็นเกี่ยวกับผู้ชายที่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคนนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป (ไม่ด้วยจุดยืนทางการเมืองหรืออะไรก็ตาม) แต่สำหรับพวกเราทีมงาน Headbangkok แล้ว เขาคือมิตรสหายคอเพลงร็อกที่ควรค่าแก่การนั่งสนทนาภาษาดนตรีด้วยทุกเมื่อหากมีเวลา

ยินดีที่ได้พบปะพูดคุยกันในครั้งนี้ หวังว่าจะได้นั่งเสวนาภาษาร็อกด้วยกันอีก สวัสดีครับ!