ว่ากันว่า ในบรรดา Big 4 of Thrash Metal วง Slayer คือศิลปินที่สาวกเมทัลบ้านเราอยากดูมากที่สุด เนื่องจาก 3 วงที่เหลือต่างเคยแวะมาเยือนแฟนหูเหล็กเมืองไทยกันวงละครั้งสองครั้ง (Metallica ปี 1993, Megadeth ปี 2007 กับปี 2012 Anthrax ปี 2011) มีเพียง Slayer เท่านั่นที่ยังไม่เคยมาเล่นที่สยามประเทศแห่งนี้เลย

แต่ลางร้ายของชาวเฮดแบงเกอร์บ้านเราก็มาเกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อ Dave Lombardo มือกลองเจ้าของฉายาเจ้าพ่อกระเดื่องคู่ของวงการเมทัล ประกาศแยกทางกับ Slayer อีกครั้งเพราะปัญหาเรื่องการแบ่งรายได้ภายในวง (อีกแล้ว) ตามด้วยข่าวช็อกอย่างการเสียชีวิตของ Jeff Hanneman นักกีตาร์และมือแต่งเพลงหลักของวง ที่จากไปในวัยเพียง 49 ปี จากอาการตับล้มเหลว

การเสียขุนพลหลักไปถึง 2 คน สร้างความกังวลต่อแฟน ๆ อย่างมาก และแล้วสิ่งที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นจริง เพราะหลังจากวงออกอัลบั้ม Repentless ผลงานชุดที่ 12 ในปี 2015 ทางวงก็ประกาศข่าวช็อกด้วยการจัดคอนเสิร์ต Farewell Tour เพื่อเตรียมอำลาแฟนเพลงทั่วโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

และที่แย่กว่า คือยังไม่มีประเทศไทยอยู่ในตารางทัวร์เช่นเดิม!

แต่ทุกครั้งที่พระเจ้าปิดประตูใส่หน้าเรา ปีศาจจะย่องมาเปิดหน้าต่างรอไว้เสมอ ถึงจะอดดูที่เมืองไทย แต่โชคชะตาได้ชักพาให้กระผมได้มาทำงานในร้านอาหารไทยที่อเมริกาเมื่อช่วงต้นปี ประจบเหมาะกับช่วงที่ Slayer ตระเวณทัวร์อเมริกาเหนือพอดี แถมยังได้ยอดฝีมือระดับพระกาฬมาเป็นวงเปิด เรียกว่าค่าตั๋วเหมือนซื้อ 1 แถม 5 เอาเป็นว่างานนี้พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

แต่อุปสรรคยังตามมาหลอกหลอนอยู่เรื่อย ๆ …

หนึ่งคืนก่อนคอนเสิร์ตเริ่ม เกิดพายุฝนกระหน่ำที่ Jiffy Lube Live สถานที่จัดการแสดงในรัฐเวอร์จิเนียที่ผมอยู่ (Raining Blood!) ที่จอดรถน้ำท่วม มีรถเสียไปหลายสิบคัน (คืนนั้นคือคอนเสิร์ตของวง Dave Matthews Band) วันต่อมาก็ยังมีการประกาศระวังพายุฝนอีกระรอก สถานที่จัดการแสดงเป็นลานกลางแจ้ง หากพายุเข้าหนัก ๆ ก็อาจประกาศยกเลิกการแสดงได้

แต่ถึงวันจริง ฟ้าฝนเป็นใจ สถานที่ดูเรียบร้อย ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อคืนเพิ่งมีเหตุน้ำท่วมมาหมาด ๆ ส่วนแฟนเพลงขาร็อกมากันเพียบ ไม่นึกว่าเวอร์จิเนียจะมีสาวกหูเหล็กเยอะอย่างนี้

ไปถึงงานตอน 5 โมงเย็นกว่า ๆ Testament วงเปิดวงแรกก็ขึ้นแสดงไปซักพักแล้ว เป็นวงที่ว่ากันว่า หากมีการจัด Big 5 of Thrash Metal วงนี้ต้องติดแน่ ๆ

แม้ผ่านมาหลายปี แต่ลีลาของวงก็ยังดุดัน โดยเฉพาะการโซโลของ Alex Skolnick หนึ่งในเด็กก้นกุฎิของ Joe Satriani ยังคงเป็นไฮไลท์ของวงเช่นเดิม

พอใกล้ 6 โมงเย็น ก็ได้เวลาที่ Behemoth ปีศาจร้ายจากโปแลนด์ขึ้นมาสร้างความสยดสยองบนเวทีเสียที

ตอนแรกไม่คาดหวังอะไรมาก แต่กลายเป็นว่าเล่นได้มันที่สุดเป็นอันดับ 3 ของวันนั้น ดนตรีแน่นและหนักหน่วงอย่างยิ่ง หน้าเวที mosh pit กันเละเทะ

เซอร์ไพรส์ที่ 1: มีแฟนเพลงถือธงชาติโปแลนด์มาเชียร์ด้วย!

เซอร์ไพรส์ที่ 2: การแสดงต้องหยุดกลางคัน เพื่อให้เพื่อนนักดนตรีร่วมฉลองวันเกิดให้กับ Adam “Nergal” Darski นักร้องวง Behemoth

ถึงเวลา 1 ทุ่มถึงเวลาให้ Anthrax ออกอาละวาดแล้ว

แม้จะเคยดูที่เมืองไทยมาแล้ว แต่โชว์ของ 1 ใน 4 Big 4 of Thrash Metal วงนี้ก็ยังพิเศษอยู่เสมอ ความมันยกให้เป็นอันดับ 2 ของคืนนั้นเลย

2 ทุ่มกว่า ๆ ธงชาติ Pure American Metal Flag ก็ถูกนำมาประดับบนเวที ได้เวลาที่ Lamb of God วงกรูฟเมทัลสุดดังจะทำหน้าที่วงเปิดวงสุดท้าย

การเป็นวงที่ก่อตั้งในริชมอนด์ เมืองหลวงของรัฐเวอร์จิเนีย แฟนเพลงที่นี่จึงตอบรับศิลปินที่เป็นวงลูกหม้ออย่างพร้อมเพรียง

พอถึงเวลา 3 ทุ่ม สถานที่จัดงานเริ่มแน่นขนัด เพราะทุกคนรู้ดีว่าใกล้เวลาที่ Slayer วงที่เป็นแรกฐานของดนตรีแนวแบล็ก/เดธเมทัลทั้งมวล กำลังจะขึ้นโชว์เป็นครั้งสุดท้ายในเมืองนี้

เสียงตะโกนคำว่า Slayer! Slayer! Slayer! ดังกึกก้องไปทั่วสถานที่จัดงาน แม้แต่ในห้องน้ำที่ข้าพเจ้าไปทำธุระ ผู้คนที่พากันเข้ามาปลดทุกข์ก็ขออุทิศด้วยการ Slayer! Slayer! Slayer! กันไม่หยุด

3 ทุ่มกว่า ๆ คล้ายเกิดเหตุอัคคีภัยบนเวที มีไฟลุกท่วม แท้จริงมันคือการจำลองนรกภูมิ สถานที่แห่งเดียวที่คู่ควรกับการแสดงของสุดยอดสาวกซาตานเช่น Slayer

เซ็ตลิสต์หลากหลายสมกับคอนเสิร์ตอำลา ที่จัดหนักจัดเต็มคือ Seasons in the Abyss ของชอบของทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าสาวกขาจรหรือขาประจำ จัดมาถึง 4 เพลง ทั้ง “War Ensemble”, “Blood Red”, “Dead Skin Mask” และ “Seasons in the Abyss” รองลงมาคือของตายจาก Reign in Blood ได้แก่ “Angel of Death”, “Postmortem” และ “Raining Blood”

ที่ไม่ได้รับเชิญเลยคือเพลงในชุดที่พวกเขาพยายามทำสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่แฟนเพลงคาดหวัง ทั้ง Undisputed Attitude และ Diabolus in Musica แต่น่าเสียดายเล็กน้อยตรงที่งานจากยุคแรกถูกนำมาเล่นแค่ชุดละเพลง ทั้ง “Black Magic” จาก Show No Mercy และไตเติ้ลแทร็กของ Hell Awaits (จริง ๆ ถ้าพี่จะเล่นแค่ Hell Awaits และ Reign in Blood แบบยกชุดก็คงไม่มีใครว่า 555)

Gary Holt ที่ยอมพักงานจาก Exodus เพื่อมาช่วยงานอำลาให้ Slayer ทำหน้าที่เข้าขากับ Kerry King ไม่ขาดตกบกพร่อง ส่วนมือกลอง Paul Bostaph ไม่ต้องพูดถึง เพราะรู้งานดีอยู่แล้ว

การแสดงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีการหยุดทักทายแฟนเพลงไม่กี่ครั้ง ที่เหลือคือการซัดกันนัวไม่มีหยุด

ได้เวลานัดกลับบ้านตอน 22.30 ข้าพเจ้าเตรียมเผ่น แต่ก็ต้องหยุดตัวเองเอาไว้ เมื่อเวทีถูกฉาบไปด้วยสีแดงดุจโลหิตปีศาจร้าย เตรียมพร้อมสำหรับการบรรเลง “Raining Blood” และ “Angel of Death” 2 เพลงที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับวงนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 27 ปีก่อน ถูกนำมาบรรเลงเหมือนเป็นการสั่งลา

18 เพลงที่ได้ฟังในคืนนั้น ก็ทำให้รู้ซึ้งว่า ทำไมวงการเพลงถึงยกย่อง Slayer มากขนาดนี้

สมัยที่ Tiger Woods ยังรุ่ง ๆ มีนักข่าวถามว่า เมื่อไหร่คุณจะเลิกตีกอล์ฟ  เขาตอบสั้น ๆ ว่า “When my best is not enough.” หมายความว่า เขาจะเลิกในช่วงที่ฟอร์มยังไม่แย่จนเกินไป Slayer Farewell Tour ครั้งนี้ก็ดูจะสะท้อนแนวคิดคล้าย ๆ กัน เพราะคนดูคงไม่มีใครเชื่อว่า วงที่ยังโชว์ได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้ จะไม่มีอยู่อีกต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า

ส่วนตัวก็ถือเป็นการทำความฝันเล็ก ๆ ให้เป็นจริง ด้วยการดูคอนเสิร์ต Big 4 of Thrash Metal ได้ครบทั้ง 4 วงในที่สุด

ปล. Tom Araya ฝากมาบอกว่า Slayer Farewell Tour จะดำเนินต่อไปตลอดปี 2019 โดยวงตั้งใจจะไปพบแฟนเพลงให้ได้มากที่สุด งานนี้แฟนเพลงชาวไทยมีลุ้นไม่น้อยครับ แต่ถ้าให้ชัวร์เลยก็เตรียมเก็บเงินไปเที่ยวออสเตรเลียกันดีกว่า เพราะเทศกาล Download ปีหน้า แฟนเพลงออสซีเตรียมรับมือของแรง ๆ ทั้ง Ozzy Osbourne, Judas Priest, Alice in Chains และ Slayer เล่นวันไหน เมืองอะไรค่อยว่ากันอีกที เอาเป็นว่าเก็บเงินรอได้เลยครับ พลาดจากนี้อาจไม่มีอีกแล้ว!