บทความเก่าเมื่อสามปีที่แล้วครับ แต่คิดว่าน่าจะให้ประโยชน์ (หรือไม่ก็ดราม่า) กับผู้อ่านทั้งที่เป็นนักดนตรี และผู้เสพดนตรี เนื้อหาหลักเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ การหาเงินจากธุรกิจดนตรีระหว่างที่ออกทัวร์ เขียนโดยเชน เบลย์ (มือกีตาร์วงโอห์, สลีปเปอร์)
ต้นฉบับใช้ชื่อเรื่องว่า Why Mid-Level Bands Cannot Make Money. (ทำไมวงระดับกลาง ๆ ถึงทำเงินไม่ได้) มีเนื้อความดังนี้ :
วันอังคาร 20:35 น.
สวัสดีทุกคน,ห้าปีที่ผ่านมา ทั้งตัวผมและสมาชิกในวงโอห์, สลีปเปอร์ได้สังเวยทั้งชีวิต, เวลา, ความสัมพันธ์, วันเกิด, วันหยุด, สุขภาพ (ฮ่า ๆ) เพื่อที่จะออกเดินทางไปเล่นดนตรีให้แฟนเพลงของพวกเรา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นการเดินทางที่ยอดเยี่ยม!
ผมแค่อยากจะให้แฟน ๆ รับรู้ในสิ่งนี้ :
ผมอยากจะให้พวกคุณเห็นว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันสำหรับ “วงระดับกลาง” แบบเราในการออกทัวร์มันเป็นยังไง
ในระหว่างที่ออกทัวร์ มีสองทางที่เราสามารถหาเงินได้ คือ เงินประกัน และสินค้า
บิลค่าใช้จ่ายสำหรับการออกทัวร์หลัก ๆ ที่เราต้องจ่ายให้คือ: ผู้จัดการวง, บุ๊กกิ้งเอเจนต์, ส่วนแบ่งสินค้าที่ขายได้ [ให้กับผู้จัดงาน], บิลค่าสินค้าที่เราสั่งทำมา, อาหาร และแน่นอน ค่าน้ำมัน
ค่าเฉลี่ยของเงินประกันในการทัวร์ครั้งล่าสุดของเราคือ 300 ดอลลาร์สหรัฐ [ขออนุณาตเขียนเป็น $300] และประมาณ $300 ดอลลาร์เช่นกันสำหรับรายได้จากการขายสินค้าของเรา ครั้งนั้นเราทัวร์ร่วมกับอีก 3 วงในระดับเดียวกัน และแต่ละวงก็มีรายได้เข้ามาในแต่ละวันระดับเดียวกับเรา นั่นคือราว $600 ต่อวัน ทีนี้เรามาดูกันว่าต้องจ่ายให้กับอะไรไปบ้าง
ค่าสินค้าของวงที่เราสั่งทำมาต้องผ่านการสั่งซื้อ สั่งพิมพ์และจัดส่ง เราพิมพ์เสื้อของเรากับร้านอเมริกัน แอพพาเรล จริง ๆ แล้วพวกเขา [ผู้จัดงาน] เสนอเสื้อสลิมฟิตแบบที่ดีที่สุดให้กับเรา และเด็กสมัยนี้ก็ฉลาดมากในการเลือกเสื้อผ่้าที่จะใส่ พวกเขา [ผู้จัดงาน] จะไม่ให้คุณขายของนอกเสียจากว่าคุณจะมีเสื้อแบบสลิมฟิตผ้าบาง พวกเขาคาดหวังเกี่ยวกับคุณภาพของเสื้อจากวงดนตรีมากขึ้นในปีหลัง ๆ ที่ผ่านมา
ทำเสื้อกับอเมริกัน แอพพาเรลถือว่าอยู่ในระดับที่แพงมาก ตกตัวละประมาณ $7.50 สำหรับเสื้อยืดคอกลมธรรมดา และแพงกว่านั้นหากเป็นเสื้อคอวีหรือเสื้อแขนสี่ส่วน ฯลฯ
เราขายเสื้ออยู่ที่ตัวละประมาณ $15 นอกเสียจากว่าเราออกทัวร์กับวงเฮดไลน์วงอื่น เราก็จะต้องตั้งราคาให้เท่ากับพวกเขา
พอหักค่าสกรีนเสื้อออกไปตัวละ $7.50 แล้ว ถ้าเราขายเสื้อของเราได้ทั้งหมดในราคา $300 เท่ากับว่าร้านเสื้อได้เงินจากเราไปถึง $150
แต่อย่าลืมเรื่องส่วนแบ่งที่ต้องให้กับผู้จัดงาน!
สถานที่จัดงานสวย ๆ มักมีเรตส่วนแบ่งของสินค้าที่วางขาย เราเคยเห็นอัตราส่วนแบ่งสูงที่สุดอยู่ที่ 32% ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ที่ราว ๆ 25%
เท่ากับว่าเงิน $300 ที่เราได้มาจากการขายสินค้าถูกหักต้นทุนการกรีนออกไป $150, ส่วนแบ่งที่ต้องให้กับผู้จัดอีก 25% อยู่ที่ $75 เท่ากับว่าตอนนี้เราเหลือเงินอยู่เพียง $75 เท่านั้น
และยังไม่ได้หมดแค่นั้น! ถ้าวงดนตรีวงนั้นมีทัวร์เมเนเจอร์ เขาก็จะได้เงินจากเราไปอีก 15% (คิดเป็นเงินได้ราว ๆ $11.25) เท่ากับว่ากำไรของเราตอนนี้เหลืออยู่แค่ $63.75 นี่คือรายได้ทั้งหมดที่เราได้จากการขายเสื้อ
—-
เงินประกัน [คาดว่าหมายถึงเงินส่วนที่เหลือที่จะอดหากไม่ได้มาเล่นตามที่ดีลไว้ – ผู้แปล]:
สำหรับเงินก้อนนี้ถูกแบ่งออกเป็น: 15% ให้กับผู้จัดการวง และ 10% ให้กับบุ๊กกิ้งเอเจนต์ที่คอยจัดาตารางงานให้
$300 – $45 (ให้เมเนเจอร์ 15%) – $30 (ให้บุ๊กกิ้งเอเจนต์ 10%) = เราก็จะเหลือเงินก้อนนี้อยู่ที่ $225
ค่าน้ำมันในแต่ละบิลจะอยู่ที่ราว $150 บางวันก็ถูกกว่า บางวันก็แพงมาก เราต้องเดินทางกันถึง 17 ชั่วโมงจากที่โชว์ที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งอยู่หลายครั้ง บางทีมันก็แพงไป ตอนที่เราไปทัวร์แถบตะวันตก [ของอเมริกา] บิลค่าน้ำมันอยู่ที่ราว $200-$250 แต่ผมขอยกตัวอย่างตอนนี้แค่ $150 ก็แล้วกัน
จาก $225 ที่เราได้มา หักค่าน้ำมันไป $150 ตอนนี้เราเหลือเงินประกันอยู่ $75
เรามีกันหกคนบนรถแวนที่กำลังออกทัวร์ สมาชิกในวง 5 คนและคนขายสินค้าของเรา [เขาชื่อ] “เดอะ เมซ” เราแบ่งเงินกันคนละ $10 ต่อวันสำหรับอาหารการกินในแต่ละวัน (และมันไม่พอแน่นอนสำหรับคนที่สูง 6 ฟุต 4 นิ้วและหนัก 90 กิโลกรัมอย่างผมกับมิคาห์ [นักร้องนำ])
6 คน x $10 = $60
$75 (ค่าประกันที่เหลือ) – $60 = $15
$15 คือเงินกำไรที่เราได้จากค่าประกัน—-
$63.75 (กำไรจากการขายเสื้อวง) + $15 (กำไรจากค่าประกัน) = $78.75 สำหรับเงินที่เราสามารถหาได้จากการโชว์ในแต่ละคืน ถ้าคุณเอามันมาหารด้วยสมาชิกทั้งหกคนบนรถทัวร์ ก็อยู่ที่คนละราว ๆ $13.2 สำหรับสมาชิกในวงแต่ละคน
นี่ยังไม่รวมค่าโรงแรมที่ต้องจ่ายอีกราว $50-$60 บางวงก็เลือกที่จะไม่นอนโรงแรมเพื่อเซฟเงินเหล่านี้ไว้จ่ายค่าโทรศัพท์แทน
ทั้งหมดนี่ยังไม่รวมค่ายางรถ, ค่ารถที่เช่ามา, ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ อีกจิปาถะมากมายที่จะต้องจ่ายให้กับการดูแลรักษารถที่ใช้ในการทำการออกทัวร์ครั้งนี้
และยังไม่ได้รวมถึงภาษี ค่าทางด่วน ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ [ของอเมริกา] ค่าทางด่วนอาจพุ่งขึ้นไปสูงถึง $20-$40 ต่อวันเลยทีเดียว
ขอบคุณที่อ่าน
ขายของได้ก็โดนหักส่วนแบ่ง
หยุดขโมยผลงานของพวกเราที
เราไม่สามารถทำเงินได้หากคุณซื้อมันจากร้าน คุณต้องมาที่คอนเสิร์ต
เราไม่สามารถทำเงินจากค่ายเพลงได้
ซื้อสินค้าของพวกเราหากคุณยังรักในสิ่งที่เราทำอยู่ขอบคุณที่อ่าน
เชน
ความเห็นจากผู้แปล : ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผมให้เห็นว่าวงดนตรีที่มีชื่อเสียงก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในด้านการเงินเสมอไป เคยคิดว่าวงดนตรีคือสินค้าที่ทำกำไรได้ดีหากมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง หากคุณไม่ได้เป็นวงที่ “ดังมาก” ไม่ได้เป็น “ร็อกสตาร์” การเลือกเดินทางสายนี้เพื่อใช้ดนตรีเลี้ยงชีพดูจะเป็นงานที่สาหัสเอาการสำหรับชีวิตมนุษย์เลยทีเดียว
ถ้ารักวงดนตรีอย่าลืมสนับสนุนของแท้นะครับ ทั้งซีดีและสินค้าของวง ต่อลมหายใจให้ศิลปินที่ชื่นชอบทำผลงานออกมาต่อ ๆ ไป
*เพิ่มเติมเรื่่องส่วนแบ่งค่าสินค้าที่ขายได้ให้กับคนจัด ที่อเมริกาดูเหมือนจะมี Merch Rate เป็นเรื่องปกติของการจัดคอนเสิร์ตครับ เริ่มต้นมาจากที่พวกโปรโมเตอร์ที่กลัวว่าโชว์จะแป้กแล้วสูญเสียรายได้ เลยต้องมาหาเงินจากส่วนอื่นของคอนเสิร์ต อ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้
ที่มา – Metal Injection

ผู้ร่วมก่อตั้ง และอดีต บก. Headbangkok.com