After The Burial วงสไตล์ djent/deathcore มากฝีมือจาก Twin Cities, Minnesota เพิ่งจะปล่อยอัลบั้มใหม่ลำดับที่ 4 ในชื่ออัลบั้มว่า Wolves Within เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมาภายใต้สังกัด Sumerian Records อีกครั้ง โดยสมาชิกที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานได้แก่ Anthony Notarmaso ร้องนำ, Trent Hafdahl ลีดกีต้าร์และร้องคอรัส, Justin Lowe ภาคริธึมกีต้าร์ซึ่งรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ด้วย, Lerichard “Lee” Foral เกี่ยวเบส และ Dan Carle หวดกลอง

อัลบั้มนี้มีทั้งหมด 9 เพลงด้วยกัน ก่อนจะไปทราบถึงรายละเอียดแต่ละเพลงขออธิบายภาพรวมของอัลบั้มนิดก่อนแล้วกันครับ ดนตรีโดยรวมมีจังหวะการเล่นสไตล์ djent การเน้นดีดริธึมของกีต้าร์สายบนสุด จูนเสียงต่ำ และใช้วิธีดีดแบบขัด ๆ สอดรับไปกับภาคเบสและกลอง โชว์กรูฟ/ทีมเวิร์กและความแม่นยำในการเล่นสัดส่วนที่ไม่ปกติ เข้าใจง่าย ๆ ก็คือภาคริธึมแบบโปรเกรสซีฟนั่นเอง โดยการเล่นแบบนี้ถูกปูพื้นไว้ในทุก ๆ เพลง แต่ถูกปรับเปลี่ยนใส่รายละเอียดความน่าสนใจแตกต่างกันออกไปในแต่ละเพลง เสียงร้องเน้นสองโทนหลักคือสำรอกโทนกลาง, แผดสูง และมีกดต่ำเข้ามาบ้าง ซึ่งผมจะรีวิวในส่วนรายละเอียดที่น่าสนใจในแต่ละเพลงที่นอกเหนือจากนี้ให้อ่านกัน มาเริ่มลุยกันเลยครับ

เปิดอัลบั้มด้วยเพลง Anti-Pattern อินโทรโชว์ด้วยกลองก่อนเลย โชว์สเต็ปโปรเกรสซีฟชวนตื่นเต้น ไลน์กีต้าร์มีการสอดแทรกเมโลดี้หลอน ๆ ในช่วงแรก ควบคู่กับภาคริธึม ไลน์เบสเสียงออกบวม ๆ โดดเด่นหนักแน่นชัดเจน เบรคดาวน์เพลงนี้ก็อร่อยเหาะ ฟังแล้วอยากมอชให้บ้านพัง ต่อด้วย Of Fearful Men อินโทรมานึกย้อนไปถึงผลงานในอัลบั้ม Rareform  ซึ่งแน่นอนครับเมโลดี้สไตล์ไอยคุปต์แห่งดินแดนอียิปต์ถูกหยิบยกมาใช้ จับวางริฟท์สวยงามลงกับภาคริธึม มีการเบรคเพลงด้วยเสียงกีต้าร์สไตล์คลาสสิคสร้างมูฟเมนต์ที่น่าสนใจให้กับเพลง โซโล่ได้โชว์แบบจัดเต็มสะเด่าหูมาก ภาคกลอง บลาสต์บีตถูกนำกลับมาใส่ในเพลง กระเดื่องคมชัด จังหวะเพลงนี้ฟังง่ายมีท่อนผ่อนเป็นทูสเตปไว้ให้ฟังอีกด้วย Pennyweight เพลงนี้มาโชว์จังหวะ djent เป็นหลัก (อารมณ์ไปทาง Born of Osiris อัลบั้ม Rosecrance การร้องมีการนำท่อนตะโกนแบบฮาร์ดคอร์มาใส่ไว้กับเพลงด้วย กีต้าร์มีโชว์โซโล่บาดอารมณ์เป็นสีสันของเพลงไม่ให้เพลงมันเลี่ยนกับริธึ่่มจนเกินไป ก่อนจบทิ้งช่วงแล้วกลับมาโชว์สัดส่วนเมพ ๆ ให้ได้ฟังกันเป็นการทิ้งท้าย Disconnect อินโทรมาด้วยอคูสติกกีต้าร์เบรคอารมณ์คลอไปกับเสียงกีต้าร์โซโล่ ได้ฟีลฮาร์ดร็อคสุด ๆ จังหวะเพลงนี้ซอฟต์ลงในช่วงต้นเพลงและกีต้าร์ได้โชว์ไล่ลูปกันอย่างเมามัน แต่พอกลางเพลงเท่านั้นหล่ะบลาสต์บีตกระจุย ก่อนจะตบเข้าเบรกดาวน์ผ่อนจังหวะลงมา เพลงนี้อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ครับ ผ่อนหนักเบาสลับกันไป อีโมชั่นสุด ๆ มีบางช่วงได้โชว์สัดส่วนดนตรีพอหอมปากหอมคอ Nine Summers กลับมาลุยอีกครั้ง เพลงนี้อารมณ์เดียวกับเพลง Of Fearful Men ครับ ทั้งท่อนริฟฟ์กีต้าร์และสำเนียงในการเล่นแต่ยังมาไม่มาก จังหวะจะเน้นไปทางเบรกดาวน์มากกว่า รวมถึงมีการผ่อนจังหวะคล้าย ๆ กับเพลงก่อนหน้านี้เช่นกัน ต่อด้วยVirga อินโทรด้วยพายุบลาสต์บีต อารมณ์เพลงนี้คือนึกถึงผลงานจากอัลบั้ม Rareform อีกแล้ว แบบว่าจับไปวางรวมกันได้สบาย ๆ เพลงนี้พิเศษหน่อยได้ Nick Wellner แฟนพันธุ์แท้ของวงมาร่วมแหกปากด้วย แห่มไอเดียเก๋จริง ๆ ลองฟังดูนะครับน่าจะแยกเสียงออกไม่ยาก Neo Soul อินโทรโชว์ด้วยเมโลดี้กีต้าร์สวย ๆ ลอย ๆ มีเสียงซินธิไซเซอร์คลอเบา ๆ ก่อนเสียงไชน่าจะดังขึ้นจากการฟาดของไม้กลอง ตบเข้ามาด้วยการเล่นจังหวะ djent คลอไปกับเมโลดี้กีต้าร์  ฟังแล้วรักเมโลดี้กีต้าร์เพลงนี้มาก ๆ เพลงนี้ได้โชว์สัดส่วนที่ซับซ้อนสไตล์โปรเกรสซีฟเต็มอัตรา บางอารมณ์ก็ทำให้นึกถึง Dream Theater ขึ้นมาแบบจาง ๆ กระเดื่องถูกเหยียบอย่างมีชั้นเชิงควบคุมจังหวะได้อยู่หมัด Parise เป็นอีกเพลงที่อินโทรมาก็โชว์ทีมเวิร์กให้ได้ฟังกัน กรูฟกระจาย เบรกอารมณ์เพลงด้วยการโชว์ลูกเล่นสแล็ปเบส เป็นอีกเพลงที่มาโชว์ทักษะอย่างเต็มที่ ปิดท้ายอัลบั้มด้วย A Wolf Amongst Ravens เพลงแรกที่ปล่อยมาให้แฟน ๆ ได้ฟัง ทำมาเพื่อสั่งลาของจริง เรียกว่ามีของเท่าไหร่จัดมาเต็มที่ โดยเฉพาะเสียงร้องแผดสูงรัว ๆ มันได้อารมณ์สะใจสุด ๆ จริงๆผมเขียนรีวิวเพลงนี้ไปแล้วครับ ลองหาอ่านดูกันได้ เพลงนี้จะว่าไปก็คือการตกผลึกจากทั้งอัลบั้มครับ ถูกเจียระไนไว้ในเพลงนี้ได้อย่างงดงาม

เป็นอีกหนึ่งผลงานในสาย djent ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยนะครับ ทักษะฝีมือนี่หายห่วง พวกเค้ามีการพัฒนาที่ก้าวข้ามวงในสายเดียวกันไปพอสมควร ฟังแล้วได้อะไรไปบำรุงสมองและโสตประสาทแน่นอน เป็นอัลบั้มที่ผมหยิบมาฟังบ่อยนะครับ ฟังแล้วไม่น่าเบื่อ แฟน After the Burial หายห่วงครับ ถ้ารักวงนี้จริง พรี-ออเดอร์สั่งแผ่นกันได้เลย ผมเชื่อว่าราคาที่คุณจ่ายไปแลกกับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเค้าคุ้มค่าทุกบาทสุกสตางค์แน่นอนครับ