ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาพอสมควรสำหรับวงเฮฟวีเมทัลที่ตอนนี้น้อยคนเหลือเกินที่จะไม่รู้จักพวกเขา — ใช่แล้วครับ! ผมกำลังพูดถึง Avenged Sevenfold หรือที่มักเรียกกันเก๋ ๆ สั้น ๆ ว่า A7X นั่นแหละ โดยสตูดิโออัลบั้มชุดใหม่นี้ (อัลบั้มที่เจ็ด) ใช้ชื่อว่า The Stage
พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในอัลบั้มใหม่นี้คือ 1. มีการเปลี่ยนไลน์อัพใหม่หนึ่งรายถ้วนได้แก่ Brooks Wackerman (อดีตมือกลอง Bad Religion) มานั่งคุมกลองชุดแทนที่ Arin Ilejay 2. ย้ายสังกัดมาอยู่กับ Capitol Records ซึ่งจะว่าไปการย้ายค่ายก็ไม่ได้มีผลต่อทิศทางดนตรีแม้แต่น้อย เพราะสถานะของพวกเขาตอนนี้น่าจะกลายเป็นวงเมทัลระดับร็อคสตาร์ไปเสียแล้วหากใครยังเข็ดขยาดกับอัลบั้มที่แล้ว (Hail to the King) งานใหม่นี้หายห่วงได้เลยครับ หวนกลับไปเล่นกับซาวด์หนัก ๆ อย่างกับช่วงวัยรุ่น แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือทักษะ ฝีมือและการเรียบเรียงดนตรีนั้นดูจะเพิ่มมากขึ้นจนหลาย ๆ เพลงขยับขยายกลายเป็นโปรเกรสสีฟเมทัลได้อย่างไม่ยากเย็นเลยทีเดียว
Track-by-track Review:
1. “The Stage”: ไตเติลแทร็คเปิดตัวกับลูกเล่น Tapping อันเหนือชั้นของ Synyster มือกีตาร์มากฝีมือ (แถมหล่ออีก) เสียงร้องของตา M.Shadows ยังคงแหบกร้าวทรงพลังไปกันได้ดีกับดนตรีแบบเฮฟวี่เมทัลเช่นเคย และที่ขาดไม่ได้คือท่อนโซโล่คู่ประสานเท่ ๆ ให้เหล่านักดนตรีไปตามแกะให้ปวดกบาลเล่นอีก
2. “Paradigm”: กดดันกับซาวด์กลองอลหม่านต้อนรับ Brooks สมาชิกใหม่ ทำเอาเพลงนี้พุ่งทะยานราวกับงานยุคแรก ๆ ของวง พาร์ทกีตาร์ก็เป็นอีกไฮไลต์ที่ดวลกันปั่นกันไฟแลบ
3. “Sunny Disposition”: บรรยากาศหลอน ๆ กับจังหวะกลาง ๆ สลับกับท่อนสปีดเร็วจี๋ อย่างกับพวกวงเมโลดิก ฮาร์ดคอร์ พ่วงด้วยเครื่องเป่าเสริมความขลังเข้าไปอีก ถ้าเอาไปเล่นสดนี่เหล่าขามอชอยู่ไม่สุขแน่
4. “God Damn”: ริฟฟ์หนักอึ้งสไตล์เมทัลคอร์ปูพรมถล่มไปกับกลองกระเดื่องคู่ได้อย่างมันส์สะใจ ก่อนจะดึงเข้าจังหวะกลาง ๆ ช่วงท่อนคอรัส แถมยังกล้า ๆ ใส่กีตาร์แบบสแปนนิชเข้ามาสร้างสีสันเพิ่มลูกล่อลูกชนได้อย่างดี
5. “Creating God”: กลับมาจังหวะโจ๊ะ ๆ ริฟฟ์เก๋า ๆ แนวถนัดที่พวกเขามักจะมีเพลงสไตล์นี้ติดอัลบั้มไว้เสมอ ๆ ช่วงท่อนโซโล่ก็ยังถือเป็นจุดแข็งของวงอย่างไม่ต้องสงสัย แถมพาร์ทกลองมีแอบโชว์ของเนียน ๆ อยู่ตลอดเพลง
6. “Angels”: ผ่อนน้ำหนักลงมาเจอเพลงช้ากันบ้าง ที่เป็นซีนโชว์อารมณ์ของตา M. Shadows ด้านดนตรีก็ปล่อยให้กีตาร์โชว์โซโล่ยาวเหยียดเป็นของกำนัลแก่แฟนเพลงกันไป
7. “Simulation”: โชว์การเรียบเรียงดนตรีสุดฤทธิ์ จากช้าเนิบไปเป็นสปีดเมทัลหนัก ๆ ตัดสลับไปมา ช่วงกลางเพลงดึงจังหวะหน่วง ๆ ปล่อยให้ Brooks ได้หวดกลองเต็มแรงสมใจเจ้าตัว ก่อนจะกลับมาผ่อนเป็นช้าในท่อนจบและแอบแทรกลิคกีตาร์แจ๊ซเข้าไปนิดนึงอีก
8. “Higher”: อินโทรมาแบบบัลลาดเปียโนอย่างกับจะมารำลึกหา The Rev มือกลองเพื่อนเก่าผู้ล่วงลับ ก่อนจะกลายสภาพเป็นเมทัลเต็มสูบที่ฟังดูละม้ายคล้ายงานเก่าตัวเองอยู่เล็กน้อย แถมด้วยคอรัสแบบวง Muse ไปอีก (ใช่ครับ Muse อ่านไม่ผิด) พวกเอ็งนี่มันเข้าข่ายวงโปรเกรสสีฟไปแล้วนะ
9. “Roman Sky”: เปิดฉากด้วยคลีนกีตาร์เสียงใสคลอไปกับเสียงเครื่องสายชิ้นใหญ่ช่วยเพิ่มบรรยากาศความขลัง เพลงนี้ขายความเวิ้งว้างกันเต็มที่ ตบท้ายด้วยกีตาร์โซโล่บาดอารมณ์ที่เปลี่ยนคีย์กันหลายตลบ
10. “Fermi Paradox”: เป็นอีกหนที่กระเดื่องคู่ของ Brooks ยังทำหน้าที่ได้เยี่ยม ไลน์เบสช่วยเพิ่มมูฟเมนท์ให้กับพาร์ทริธึ่มอยู่เป็นระยะ ก่อนที่คู่มือกีตาร์ Syn กับ Zacky มาปาดหน้าขโมยซีนช่วงท้ายไปเสียอย่างนั้น
11. “Exist”: ปิดอัลบั้มด้วยแทร็คนี้ ด้วยอินโทรหลากหลายลีลามาก ไม่ว่าจะซาวด์หรูหราแบบที่วงโปรเกรสสีฟชอบใช้กัน ก่อนจะระเบิดท่อนโซโล่คู่มหากาพย์ไว้อย่างเนียนกริบ ต่อด้วยการโชว์ปั่นริฟฟ์สไตล์แธรช เสียงออร์แกนไฟฟ้าหลอน ๆ แบบวง Dream Theater ก็มาด้วย ก่อนจะปิดพาร์ทอินโทรด้วยไลน์กลองขัด ๆ โชว์ของกันอุตลุดมาก กว่าจะถึงคิวนักร้องก็ปาเข้าไปเจ็ดนาทีแล้ว! ติดตรงที่ท่อนจบมันดูผ่อนคลายไปหน่อย อาจเพราะหมองหม่นกันมาแทบทั้งอัลบั้ม
ฟังจบไปหลายรอบรู้สึกขึ้นมาได้อย่างนึงว่า พวกเขากลับมาพร้อมกับความมั่นใจแบบเต็มพิกัด และคาดว่าอัลบั้มนี้คงส่งพวกเขาให้ประสบความสำเร็จมากว่าเดิมยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกก็เป็นได้

เขียนงานรีวิวที่ https://www.blockdit.com/birthzyalbumreview และ https://web.facebook.com/ziamsongs