หลังจากที่เคยได้เขียนเกี่ยวกับเมทัลคอร์ไปวันนี้ก็เป็นไอเดียต่อยอดที่จะเขียนถึง เดธคอร์ อีกหนึ่งแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมไม่น้อยหน้าเมทัลคอร์ ไม่อยากจะเกริ่นมากเพราะเนื้อหาค่อนข้างเยอะ ฮ่า ๆ ไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ
เดธคอร์ อีกหนึ่งดนตรีสายครอสโอเวอร์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเดธเมทัลและฮาร์ดคอร์ เป็นแนวเพลงที่ถือกำเนิดจากการต่อยอดของดนตรีแนวเมทัลคอร์ ด้วยโครงสร้างที่มีความเป็นเดธเมทัล ทำให้ดนตรีจะมีความหนักหน่วงและโหดกว่าเมทัลคอร์ขึ้นมาอีกระดับนึง ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องที่ใช้การกดต่ำมาเป็นเสียงหลัก มีทั้งกดต่ำแบบปกติ รวมไปถึงแบบ Pig Squeal (เสียงหมูถูกเชือด) แต่บางวงจะใช้สลับกับเสียงแหลมสูง เป็นสไตล์การร้องที่เป็นที่นิยม ส่วนดนตรีริฟฟ์หลัก ๆ มาในเสียงยานต่ำและริฟฟ์สับกันในแบบฉบับเดธเมทัล อาจจะการใช้ริฟฟ์แบบสแลมมิ่งบรูทัลมาใช้ หรือบางวงอาจจะมีการใช้ริฟฟ์ติดเมโลดิค แต่ที่เด่นชัดคงจะเป็นกลอง โดยเฉพาะ “บลาสต์บีท” ที่เป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มไดนามิคความดุดันให้กับดนตรีได้เป็นอย่างดี และอีกปัจจัยที่เพิ่มความหน่วงให้กับเดธคอร์คือท่อนเบรกดาวน์ มีทั้งแบบโยกกำลังดีหรือเล่นแบบหน่วงจัด ๆ ก็มีเช่นกัน
แต่ทั้งนี้แต่ละวงก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป บางวงอาจจะเล่นติดเป็นเทคนิคัล บางวงอาจจะติดสแลมมิ่ง หรือบางวงอาจจะมีกลิ่นอายของแบล็กเมทัลเข้ามา โดยอิทธิพลสำคัญของวงเดธคอร์ได้แก่วงในสายเดธเมทัลอย่าง Cannibal Corpse, Suffocation, Devourment และ Dying Fetus เป็นต้น ส่วนฝั่งฮาร์ดคอร์น่าจะไม่พ้นวงอย่าง Hatebreed, Terror หรือ Earth Crisis และอาจจะซึบซับดนตรีเมทัลคอร์มาโดยเอาโครงสร้างหลักมาพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเดธคอร์
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนเริ่มรู้จักคำว่าเดธคอร์คงต้องยกให้วง Through The Eyes of the Dead พวกเขาปล่อยอัลบั้มแรก Bloodlust กับสังกัด Prosthetic Records เมื่อปี 2005 แม้ริฟฟ์หลักจะเป็นสไตล์เมโลดิกแบบที่เมทัลคอร์ใช้ แต่องค์ประกอบอย่างอื่นต้องบอกว่ามันหนักเกินกว่าคำว่าเมทัลคอร์ไปแล้ว เสียงร้องยังกดต่ำแบบสุด ๆ แต่ในช่วงนั้นยังไม่เกิดการบัญญัติศัพท์คำว่าเดธคอร์ขึ้นมา ทางวงจึงถูกเหมารวมว่าเป็นเมทัลคอร์อยู่
หลังจากนั้นสังกัด Nuclear Blast ก็ส่งวง All Shall Perish มาให้ชาวโลกได้รู้จัก โดยปล่อยอัลบั้มแรกที่มีชื่อว่า Hate, Malice, Revenge ออกมาในปี 2005 เช่นกัน ซึ่งในอัลบั้มนี้มีความชัดเจนคำว่าเดธคอร์เป็นอย่างมาก ริฟฟ์กีตาร์มาทางสไตล์เดธเมทัลเต็ม ๆ แถมเบรกดาวน์ยังโดดเด่นในแบบฮาร์ดคอร์ แถมกลองยังกระหน่ำสับแหลก มีบลาสบีทไว้คอยบทขยี้อย่างสม่ำเสมอ เสียงร้องมีการนำใช้ Pig Squeal มาใช้ และการมาของ All Shall Perish คำว่าเดธคอร์จึงถือกำเนิดขึ้นมาจากสไตล์ที่ชัดเจนของพวกเขา
(*All Shall Perish อัลบั้ม Hate, Malice, Revenge นักร้องของวงคือ Craig Betit ยังไม่ใช่ Hernan “Eddie” Hermida ที่ปัจจุบันร้อง Tee Hee อยู่กะ Suicide Silence)
แต่ถ้าจะให้พูดถึงผลงานที่ปลุกกระแสเดธคอร์ให้ติดราวกับไฟลุกโชนคงต้องยกให้อีพี Doom ของวง Job for a Cowboy ซึ่งออกวางขายในช่วงปลายปี 2005 และถูก reissue โดยสังกัด Metal Blade ในปี 2006 อันที่จริงทางวงได้ฝากเพลงไว้ในเว็บไซด์ Myspace เว็บไซต์ยอดนิยมของสังคมนักดนตรีในสมัยนั้น โดย Doom สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการเพลงหนักกระโหลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลง “Entombment of a Machine” ที่เหมือนกับเป็นเพลงต้นแบบของวงเดธคอร์หลาย ๆ วงและเปรียบเหมือนเพลงชาติของเดธคอร์ไปเลย ซึ่งลามมาถึงประเทศไทย โดยวงใต้ดินในช่วงนั้นหยิบเอาเพลงนี้มาเล่นกันหลายวง แถมนักร้องหลาย ๆ วงในช่วงนั้นยังฝึกกดต่ำและ Pig Squeal กันอีก จนเกิดมาเป็นคำล้อเลียนว่า “อู๊ด ๆ บรึ๋ย ๆ” ฮ่า ๆ
หลังจากที่ชื่อเสียงของ JFAC เป็นที่รู้จัก ก็เริ่มมีวงเดธคอร์โผล่ออกมาอย่างมากมาย โดยพีคสุดจะเป็นในช่วงปี 2006-2008 แต่หลังจาก 2008 ก็ยังคงมีกระแสดีต่อเนื่อง ยังคงมีวงเดธคอร์หน้าใหม่หลังปี 2008 ผลิตผลงานออกมาเช่น Chelsea Grin, Oceano, Suffokate หรือ Thy Art is Murder เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาต่อเนื่องจนเกิดเป็น Djent ขึ้นมาอีกด้วย และจนถึงปัจจุบันดนตรีแนวนี้ก็ยังคงไม่หายไปไหนโดยมีวงรุ่นถัดมาที่เล่นได้โหดร้ายและซับซ้อนกว่าเดิมเช่น Aversion Crown, Infant Annihilation, Slaughter to Prevail และอีกมากมาย อาจจะด้วยความหนักหน่วงทางดนตรีเกินกว่าที่คนหมู่มากจะเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เดธคอร์ยังคงวงเวียนอยู่ในวงการดนตรีมาถึงสิบเอ็ดปีเต็ม ๆ
นอกจากต่างประเทศแล้วก็ยังมีวงในไทยที่ปัจจุบันยังคงเล่นแนวนี้อยู่นะครับ เช่น Fathomless, No Penquins in Alaska, Teresa, Sin of Suffering, Eccentric Toilet, Inside Your Mind หรือแม้กระทั่ง Tragedy of Murder วงผมเองเช่นกัน แหะ ๆ ยังไงลองติดตามหาผลงานมาฟังกันได้ครับ
และนี่คือประวัติพอสังเขปของเดธคอร์ครับ แต่ยังไม่จบ มีของแถมให้ ขออนุญาตพาทุกคนย้อนไปยุคเดธคอร์รุ่งเรืองในช่วงปลายปี 2005-2008 เป็นสิบอัลบั้มเดธคอร์ที่ผมคัดเลือกมาที่จะทำให้คุณนึกถึงในช่วงวันวานเหล่านั้น จะมีวงและอัลบั้มอะไรบ้างเชิญติดตาม
1. The Cleansing – Suicide Silence (2007)
หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักเดธคอร์จากวงและอัลบั้มนี้ ด้วยภาพลักษณ์ของนักร้องผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง Mitch Lucker ที่โดดเด่น จนมักถูกไปเปรียบเทียบกะ Oliver Sykes อยู่เสมอ ทำให้หลาย ๆ คนสนใจวงนี้ แต่นั้นแค่เปลือกนอก เพราะอัลบั้มนี้ความยอดเยี่ยมคือการอัดกันแบบตรงไปตรงมาไม่ต้องซับซ้อนมาก แต่มันและเข้าถึงอารมณ์โดยตรง แถมการแต่งเนื้อร้องยังติดหูอย่างมากแม้จะไม่มีเสียงคลีนเลยก็ตาม ดนตรีมีความกระชับไม่ยาวจนเกินไป ทำให้การเสพย์อัลบั้ม The Cleansing มีแต่ความมันและไม่น่าเบื่อแต่อย่างใด ที่สำคัญไม่มี Tee Hee ด้วยนะ
2. The Ills of Modern Man – Despised Icon (2007)
เทคนิคัลเดธคอร์จากแคนาดามีอัลบั้มก่อนหน้านี้มาถึง 2 อัลบั้ม แต่ยังไม่เป็นรู้จักมากนัก จนกระทั่งอัลบั้มที่สาม The Ills of Modern Man ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ดนตรีของพวกเขาคือความชัดเจนระหว่างเทคนิคัลเดธเมทัลและฮาร์ดคอร์ โดดเด่นด้วยนักร้องสองคนที่สลับโทนกดต่ำและสำรอกแบบฮาร์ดคอร์ นอกจากนั้นมือกลองวงนี้ยังโคตรเก่ง หวดกลองโคตรบ้าพลังแถมสัดส่วนยังเยอะอีกต่างหาก เป็นอัลบั้มที่ทารุณโสตประสาทได้อย่างมีชั้นเชิงจริง ๆ
3. Doom – Job for a Cowboy (2005)
คงต้องต้องสาธยายอะไรมากสำหรับอีพีนี้ เพราะได้เกริ่นไปหมดแล้วในช่วงของบทความ เอาเป็นว่าถ้าจะฟังเดธคอร์ควรจะทำความรู้จักผลงานชิ้นนี้ให้ได้
4. This is Exile – Whitechapel (2008)
กำลังจะมาเยือนประเทศไทยเลย สำหรับเดธคอร์ขวัญใจวัยรุ่น Whitechapel แน่นอนว่าอัลบั้มสร้างชื่อให้พวกเขาคงหนีไม่พ้นอัลบั้มนี้ ซึ่ง้เป็นอัลบั้มที่สองของพวกเขา ด้วยเสียงร้องอันทรงพลังของ Phil Bozeman รวมไปถึงความครบเครื่องทุกองค์ประกอบที่เดธคอร์ควรมี ทำให้พวกเขาได้ใจสาวกเดธคอร์ไปเต็ม ๆ
5. Dead in My Arms – Carnifex (2007)
เป็นวงที่ช่วงแรก ๆ ถูกยกไปเปรียบเทียบกับ Suicide Silence บ่อย ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วหากตั้งใจฟังจะพบว่า Carnifex ก็มีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน ความดิบของพวกเขาคือจุดเด่นในอัลบั้มนี้ แต่เพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักคงหนีไม่พ้นเพลง “Lie to My Face” โดยเฉพาะท่อนที่ตะโกนว่า What the fuck! นั่นหล่ะ
6. The Price of Existence – All Shall Perish (2006)
แม้อัลบั้มแรกจะเป็นจุดกำเนิดของเดธคอร์ แต่ความยอดเยี่ยมต้องยกให้อัลบั้มที่สอง The Price of Existence การเข้ามาของ Eddie ทำให้พาร์ทของเสียงร้องมีหลากหลายมิติแถมยังโคตรทรงพลัง ไม่ว่าจะโทนต่ำพี่แกก็จัดให้สุดลูกระเดือก โทนสูงก็ปีนขึ้นได้สบาย ๆ นอกจากนั้นการเรียบเรียงดนตรียังทำออกมาได้น่าชื่นชม มีความปราณีตและละเอียดอย่างมาก ลูกริฟฟ์ ลูกโซโล่ ทำออกมาได้สวย เป็นอัลบั้มเดธคอร์ที่มีความละเมียดละไมมากเลยทีเดียว
7. Decimate the Weak – Winds of Plague (2008)
ได้ชื่อวงมาจากเนื้อร้องในเพลง “Endless” ของวง Unearth พวกเขามากับแนวซิมโฟนิค เดธคอร์ คงไม่ผิดนักถ้าจะเรียกพวกเขาแบบนี้ เพราะวงนี้ความโดดเด่นคือมีไลน์คีย์บอร์ดสอดแทรกเข้าไปอยู่ในเพลงพวกเขา นอกจากนั้นสิ่งที่วงนี้ทำได้ดีคือท่อนเบรกดาวน์ที่หน่วงได้ถึงกึ๋น
8. Unconsecrated – The Red Shore (2008)
เทคนิคัลเดธคอร์จากออสเตรเลีย เป็นวงที่สัดส่วนที่เล่นโคตรมีชั้นเชิงแถมดนตรียังหนักหน่วงแบบไร้ปราณี ล้ำกว่าเดธคอร์ยุคนั้นพอสมควร เสียดายที่ปัจจุบันยุบวงไปแล้ว โดยในปัจจุบัน Jamie Hope อดีตมือเบสและนักร้องนำของวงไปอยู่วง I Killed the Prom Queen เรียบร้อย
9. Allegiance – As Blood Runs Black (2006)
เลือกวันวางขายอัลบั้มดีได้ดีจริง ๆ ไม่รู้ว่าเอาฤกษ์เอายามเลขซาตานรึเปล่า เพราะอัลบั้ม Allegiance ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของวงที่ปล่อยมาปุ๊ปก็ปังทันดี แม้รายละเอียดดนตรียังคงติดกลิ่นเมทัลคอร์มาโดยเฉพาะริฟฟ์สไตล์เมโลดิก แต่กระนั้นพวกเขาก็หยิบความเป็นเดธคอร์เข้ามาใส่แบบเกาะกระแสได้อย่างลงตัว หลาย ๆ คนน่าจะยังคงไม่ลืมเพลง “In Dying Days”
10. Count Your Blessings – Bring Me the Horizon (2006)
เราคงไม่ได้เห็นพวกเขากลับมาเล่นได้โหดสัสแบบนี้อีกแล้ว หรือแม้แต่จะหยิบเพลงมาเล่นสดก็ตามถ้าไม่ใช่โอกาสพิเศษจริง ๆ แม้ปัจจุบันทางวงจะกลายเป็นวงเมนสตรีมไปเรียบร้อยและประสบความสำเร็จในซีนของธุรกจดนตรี แต่ก็ไม่สามารถปฎิเสธอัลบั้ม Count Your Blessing ที่พวกเขามาในสไตล์เดธคอร์ได้เลย อัลบั้มนี้แม้เนื้อหาไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่ แต่พอมาประกอบเป็นรูปเป็นร่างรวมกันทั้งหมดมันก็กลายเป็นงานเดธคอร์ชั้นเยี่ยมที่สมควรที่จะหามาฟัง

Owner, Co-Founder and Writer of Headbangkok
Vocalist : Tragedy of Murder