รู้หรือไม่! อัลบั้มนี้เกือบได้ชื่อว่า “Lovers” แทนชื่อวงแล้ว
ครบครอบ 18 ปี ผลงาน Self-Titled Album / วันวางจำหน่าย : 20.05.2003 / Producer : Terry Date
ตามที่ได้เกริ่นไปว่าอัลบั้มนี้เกือบได้ชื่อว่า ‘Lovers’ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูกเล่าโดย Chino Moreno นักร้องนำคลั่งสเกตบอร์ดของวงนั่นเอง

“เรื่องมันเป็นมาแบบนี้ครับ ตอนแรกเราจะตั้งชื่อว่า ‘Lovers’ กัน เพราะมันดูเป็นชื่อที่เท่ดีและมันฟังดูแล้วแตกต่างด้วย แต่พอตอนเราทำอาร์ตเวิร์ก ทำหน้าปกอัลบั้ม แล้วก็ตอนคิดคอนเซปต์อัลบั้ม เราก็มาลงคะแนนเสียงกันอีกทีว่าใช้ชื่อวงเป็นชื่ออัลบั้มไปเลยดีกว่า เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลสำคัญอะไรเลยในการเปลี่ยนชื่อครับ มันเป็นอัลบั้มที่พวกเราทุกคนภูมิใจกับมันมาก ๆ เลยใช้ชื่อวงไปซะเลยครับ”
นี่คือที่มาที่ไปของชื่ออัลบั้มนี้ จะว่าไปแฟน ๆ Deftones หลายคนอาจจะไม่ได้ชอบอัลบั้มนี้เป็นลำดับแรก ๆ แต่ส่วนตัวผมมันซีดีแผ่นแรกในชีวิตที่ผมซื้อครับ
ขอเล่าย้อนไปในช่วงที่ Deftones ออกอัลบั้มนี้ จริง ๆ ผมได้ยินชื่อพวกเค้ามานานแล้วจากนิตยสารดนตรีต่าง ๆ ที่ต่างยกย่องวงนี้กันทั้งนั้น รวมถึงเคยฟังผลงานเพลง “Change (In the House of Flies)” จากเทปซาวด์แทร็กประกอบภาพยนตร์ ‘Little Nicky’ และ ‘Queen of the Damned’ คือช่วงนั้นผมมีแต่เครื่องเล่นเทปครับ กว่าจะมีเครื่องเล่นซีดีเรื่องแรกในชีวิตก็ปาไปช่วงเรียนมัธยมพอดี และมันดันตรงกับช่วงที่อัลบั้มนี้ถูกนำมาจำหน่ายในประเทศไทย
หลังจากอ่านรีวิวอัลบั้มนี้จากสื่อหลาย ๆ สำนักแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางไปร้าน Music One สาขา U Center เพื่อจัดอัลบั้มนี้มาฟังซะเลย! กลับมาถึงบ้านบรรจงยัดแผ่นซีดีลงถาด เปิดเสียงดัง ๆ ให้ฟาดโสตประสาท (และเผื่อแพร่คนแถวบ้าน ทั้ง ๆ ที่เค้าไม่ต้องการ ฮ่า ๆๆๆ)
– แทร็กหนึ่ง “Hexagram”
ทันทีที่เพลงถูกบรรเลง ก็แบบ ‘นี่มันอะไรวะเนี่ย’ คือเสียงในหัวที่จินตนาการจากการอ่านรีวิวตอนนั้นคงคิดว่าไม่น่าจะแตกต่างจากวงนู เมทัล วงอื่น ๆ มากมั้ง (และมันก็คงเอาเพลง “Change (In the House of Flies)” มาใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้เพราะเพลงมันฟังง่าย)
บอกตรง ๆ ว่าปรับอารมณ์ไม่ทัน เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวลอย จะยังไงดีวะเนี่ย สัดส่วนเพลงก็ปรับไปปรับมา อลหม่านตลอดทั้งเพลง การสครีมคล้ายเสียงแมวก็ช่างก้าวร้าวเสียเหลือเกิน
– แทร็กสอง “Needles and Pins”
ดรอปอารมณ์ลงมาหน่อย ค่อยยังชั่ว เน้นจังหวะเนิบ ๆ ลอย ๆ เป็นเพลงที่ดึงให้ผมยังมีสติกับการฟังอัลบั้มนี้ให้จบให้ได้
– แทร็กสาม “Minerva”
เพลงนี้กลายเป็นฟังง่ายไปเลย ดูเป็นเพลงที่สวยงาม และให้อารมณ์ใกล้เคียงกับเพลง “Change” ไม่น้อยเลย
– แทร็กสี่ “Good Morning Beautiful”
เริ่มปรับอารมณ์ให้ไปตามจินตนาการกับสิ่งที่อัลบั้มนี้ต้องการสื่อสาร เริ่มสนุกกับการเสพมันมากขึ้น
– แทร็กห้า “Deathblow”
ผ่อนคลายกับเพลงนี้มาก ๆ หลับตาลงแล้วดนตรีจะนำพาคุณไปยังอีกมิติ
– แทร็กหก “When Girls Telephone Boys”
เห้ย กลับมาเดือด! หลังจากเจอความระห่ำใน ‘Hexagram’ มาแล้ว การรับมือกับเพลงนี้สบายโคตร โยกตามไปเลยครับพี่
– แทร็กเจ็ด “Battle-axe”
จังหวะกลาง ๆ หนักพอประมาณ ไม่เบาเป็นปุยนุ่น กลายเป็นเพลงโปรดในอัลบั้มไปโดยไม่รู้ตัว
– แทร็กแปด “Lucky You”
ลึกจัดเพลงนี้ เหมือนหลุดไปอีกโลก ดนตรีสังเคราะห์และเสียงร้องคือคู่พระนางในการสร้างความเคลิบเคลิ้มเลย
– แทร็กเก้า “Bloody Cape”
ถ้าให้เลือกเพลงไหนในอัลบั้มนี้ที่มีความดุดันแบบนู เมทัล มากที่สุดคงต้องยกให้เพลงนี้เลย เป็นเพลงที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าเพลงที่ผ่าน ๆ มา
– แทร็กสิบ “Anniversary of an Uninteresting Event”
มันไปได้เพลงเดียวก็กลับเข้าสู่โหมดล่องลอย โหยหวน ชวนฝันอีกครั้ง
– แทร็กสิบเอ็ด “Moana”
ปิดท้ายด้วยการสรุปภาพรวมของซาวด์ที่เกิดขึ้นตลอด 40 กว่านาทีในอัลบั้มนี้
บอกตรง ๆ ว่าการฟังผลงานชุดนี้ครั้งแรกไม่อินเอาซะเลย ไม่ค่อยเกตด้วย แต่หลังจากที่ค่อย ๆ ฟังไปในครั้งที่ 2 และ 3 ก็ค่อย ๆ เริ่มเข้าใจกับความเป็น Deftones ในอัลบั้มนี้มากขึ้น จนสุดท้ายมันได้เปลี่ยนกลายเป็นความชื่นชอบเข้าจนได้ และนี่คือประตูบานแรกที่ผมได้รุ้จักกับวง Deftones ก่อนที่จะกลายเป็นแฟนเพลงของวงไป อีกทั้งมันยังเป็นซีดีแผ่นแรกในชีวติ จุดเริ่มต้นของการสะสมซีดีเพลง และแน่นอนสิ่งเหล่านี้มันได้หล่อหลอมประสบการณ์จนเกิดเป็น Headbangkok มาจนถึงทุกวันนี้ครับ

Owner, Co-Founder and Writer of Headbangkok
Vocalist : Tragedy of Murder