ในช่วงที่ซีนอีโมกำลังเฟื่องฟู กระแสเพลงและแฟชั่นแพร่ระบาดผ่านพาหะนำอย่างเว็บไซต์ Myspace ซึ่งทำหน้าที่กระจายวัฒนธรรมย่อยนี้ออกไปทั่วโลก วงที่โลดแล่นออกมากันในช่วงเวลานี้เอาเข้าจริง ๆ แล้วมีจำนวนเยอะแยะมากมาย และในบรรดาวงเหล่านี้อาจไม่ใช่ทุกวงที่มีผลงานเป็นที่จดจำ ซึ่งจะมีงานเพลงจำนวนหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันในหมู่ “เด็กอีโม” เรียกได้ว่าเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับตัววงเอง และเป็นผลงานสุดฮิตที่ถูกจารึกลงในไทม์ไลน์ของซีนดนตรีนี้ด้วย

แน่นอนว่านี่คือการอ้างอิงตาม “กระแสหลัก” ของซีนนี้ บางเพลงของบางวงอาจไม่ได้มีรูปแบบดนตรีที่ “ตรง” ตามหลักที่วงรุ่นบุกเบิกแนวทางเคยทำไว้ รวมทั้งบางวงก็อาจไม่ได้หยิบยกมาอ้างอิงถึง เป็นการยึดเอาความนิยมจากภาพรวมของ “วัฒนธรรมอีโมกระแสหลักที่คนส่วนใหญ่เข้าถึง” มาพูดถึงกันนั่นเองครับ ลองไปย้อนดูกันหน่อยว่าผลงานใดของวงไหนที่เด็กอีโมได้ยินแล้วใจขึ้นกันบ้าง

 

1. “Seven Years” – Saosin (Translating the Name EP, 2003)




ตึกโป๊ะตึ่ง เทคกิ้งออนนนนน… มาวินแน่นอน งานไหนงานนั้น หลอนอยู่ช่วงนึงของชีวิตเลยเอาจริง ๆ นอกจากฟังของต้นฉบับแล้ว ไม่ว่าจะไปงานใต้ดินที่ไหนมันต้องมีเล่นกันบ้าง บางงานวงเอามาเล่นซ้ำกันสองวงก็มี! แล้วเล่นทีคนก็จะพร้อมใจกันแหกปากร้องกันสนั่นงาน วงไหนคัฟเวอร์ก็มั่นใจได้ว่ายังไงก็ไม่แป้กแน่ ๆ

 

2. “Helena” – My Chemical Romance (Three Cheers for Sweet Revenge, 2004)




ยุคอีโมกระแสหลักรุ่งแบบสุดขีดถ้าไม่ฟังเพลงนี้ถือว่าผิดเลย เรียกได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่ต้องติด 1 ใน 5 เพลย์ลิสต์ของเด็กอีโมแน่นอน สิ่งที่มากับเพลงคือมิวสิควีดีโอสุดสร้างสรรค์ โปรดักชั่นที่แม้คนไม่ได้ฟังเพลงแนวนี้แต่ถ้าได้ชมมิวสิควีดีโอเพลงนี้แล้วยังต้องออกปากชื่นชมในความสวยงาม ธีมงานศพตามแบบชาวคริสต์ การออกแบบท่าเต้นบัลเล่ต์นำมาประยุกต์เข้ากับดนตรีอีโมพังค์ ชุดสูทดำเนคไทแดง และแฟชั่นขอบตาดำ ทั้งหมดนี้ถือเป็นของใหม่ที่ออกมาสร้างความตื่นเต้นให้กับซีนดนตรีในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก

 

3. “Until the Day I Die” – Story of the Year (Page Avenue, 2003)




ไม่รู้จะอธิบายถึงความพีคของเพลงนี้ยังไง เอาเป็นว่าเป็นอีกเพลงที่ถ้าวงไหนก็ตามเอามาเล่นไม่ต้องกลัวโชว์จืดจางเลย ยื่นไมค์ไปพวกร้องตามกันลั่นร้านแน่นอน นี่ยังไม่รวมถึงโชว์ของวงต้นฉบับที่ขึ้นชื่อเรื่องความพิสดารแบบสุดเหวี่ยง วิ่งพล่านทั่วเวที เหวี่ยงกีตาร์ เหวี่ยงเบส กระโดดเตะ จนได้รับขนานนามว่าเป็นวง “กายกรรมคอร์” แห่งยุคเลยทีเดียว

 

4. “What It Is to Burn” – Finch (What It Is to Burn, 2003)




ชีสบานนนนนนนนนนนนนนนนนน!!!!! นี่ ของมันต้องมี ไงก็ต้องมีเพลงนี้ แล้วท่อนนี้ทุกคนต้องแหกปากตามได้ ท่อนเวิร์สดำนำงึมงำ ๆ ไปได้ไม่เป็นไรแต่พอถึงท่อนที่ปลดปล่อยความเกรี้ยวกราดนี้มันต้องร่วมใจกันตะโกนโดยพร้อมเพรียงกัน ถึงจะเป็นการยืนยันว่าคุณผ่านซีนอีโมมาจริง!

 

5. “A Box Full of Sharp Objects” – The Used (The Used, 2002)




อีกหนึ่งบทเพลงจากยุค จากวงที่มีอิทธิพลต่อซีนอีโมกระแสหลักเป็นอย่างมาก ด้วยการคำรามร้องสุดเกรี้ยวกราดทำให้แฟนเพลงรับรู้ได้ถึงอารมณ์ที่ส่งผ่านบทเพลง และถ้าพูดถึงการแสดงสดเมื่อครั้งที่วงยังเฟื่องฟูสุด ๆ ต้องบอกว่าใครที่ได้เห็นฟรอนต์แมนของวงอ้วกแตกโชว์กลางเวทีนี่ถือว่าเป็นเด็กอีโมตัวจริงแน่นอน ถถถถถ

 

6. “A Boy Brushed Red Living in Black and White” – Underoath (They’re Only Chasing Safety, 2004 )




การร้องสำรอกที่เหมาะกับนิยามของคำว่า สครีมโม อย่างแท้จริงจากฟรอนต์แมนคนที่หนึ่ง รวมกับการร้องคลีนเมโลดี้คีย์สูงจากฟรอนต์แมนอีกคน(ที่ตีกลอง) กลายเป็นคาแรคเตอร์สุดชัดเจน และทำให้เด็กอีโมยอมถวายตัวเป็นสาวกกันแทบทั้งวงการ และเช่นเคย ถ้าวงใดในใต้หล้านำเพลงนี้มาเล่น ไม่ต้องกลัวจะไม่มีคนช่วยร้อง เพราะมันเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่คนดูต้องช่วยกันร้องให้จบท่อนอินโทร!

 

7. “My Heroine” – Silverstein (Discovering the Waterfront, 2005)




อีกหนึ่งผลงานจากฝั่งแคนาดาที่ถูกใจเด็กอีโมทั่วทั้งโลกในช่วงเวลาหนึ่ง เพลงดังเมื่อไร ใจมาเมื่อนั้น กับเอกลักษณ์ของวงที่ผสมผสานความสวยงามของเมโลดี้เข้ากับความหนักหน่วงของภาคดนตรีได้อย่างกลมกล่อม และ 99.99 % คนที่ผ่านซีนนี้มาต้องร้องเพลงนี้ตามได้อย่างแน่นอน

 

8. “Note to Self” – From First to Last (Dear Diary, My Teen Angst Has a Bodycount, 2004)




คาแรคเตอร์สุดชัดเจนของวงนี้คือการสร้างสรรค์ไลน์กลองสุดแพรวพราว และการใช้โน้ตสูง ๆ ในการนำเสนอบทเพลง และเพลงนี้ก็ถือเป็นผลงานสร้างชื่อของวงที่ถูกใจเด็กอีโมแทบจะทั้งวงการเลยทีเดียว

 

9. “Pressure” – Paramore (All We Know Is Falling, 2005)




โอเค หลายคนอาจบอกว่านี่ไม่ใช่วงอีโม ถ้าวัดกันตามสูตรแล้ว มันก็คงจะไม่ใช่นั่นแหละ แต่สูตรไหนคืออีโมล่ะ? เรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมย่อยที่เรียกว่าอีโม และเป็นกระแสหลักด้วยเพราะงั้นแล้ว วงนี้ถือได้ว่าเป็นวงที่ได้รับอานิสงฆ์จากกระแสอีโมครองโลกไปเต็ม ๆ 1) เกิดจาก Myspace 2) ดนตรีมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่มากไปกว่าป๊อบพังค์ทั่วไปอยู่นิดหน่อย 3) อยู่ในช่วงเวลาที่อีโมกระแสหลักกำลังบูม เหล่านี้คือองค์ประกอบที่หากจะเหมารวมพวกเขาเข้าไปอยู่กับซีนอีโมนี้ มันก็พอไหวอยู่แหละเนอะ

 

10. “Sugar, We’re Going Down” – Fall Out Boy (From Under the Cork Tree, 2005)




เป็นอีกวงที่มักจะถูกกีดกันออกจากแก๊งอีโม แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันกับ Paramore นั่นเอง ทำให้อีกหลายต่อหลายคนยินดียกให้วงที่เขียนเพลงได้เข้าใจยากที่สุดวงนี้เป็นหนึ่งในพลพรรคชาวอีโม และเพลงนี้ก็ถือเป็นงานที่เด็กอีโมยกให้เป็นเพลงที่ดีที่สุดเพลงหนึ่งของวง ซึ่งถ้ามีวงไหนเอามาเล่นคัฟเวอร์ ก็มั่นใจได้เลยว่าร้องกันลั่นทุ่งแน่นอน

 

ความอีโมกระแสหลักในช่วงที่ Myspace ยังเป็นมหาอำนาจทางเว็บไซต์เกี่ยวกับดนตรีเนี่ย จริง ๆ ยังมีวงที่ #กระทำการอีโม อีกเพียบเลย ไม่ว่าจะสายสครีมโมอย่าง Alesana หรือ Blessthefall นี่ก็อยู่ในข่ายเดียวกันในช่วงนั้น หรือจะสายป๊อบหน่อยอย่าง Taking Back Sunday หรือ The Red Jumpsuit Apparatus นี่ก็ใช่ ยังมีอีกเยอะมากที่เราไม่ได้เอ่ยถึง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่ผ่านซีนนั้นมาคงจะรู้กันอยู่แล้วล่ะว่ามีวงใดที่แจ้งเกิด ที่เปิดโลกทัศน์การฟังเพลงของเราในสายนี้อีกบ้าง ซึ่งไม่ว่าจะยังไงก็ตามแต่ ผมเชื่อว่าเราน่าจะรู้สึกคล้าย ๆ กันว่าช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่เรารู้สึกมีความสุขกับการพบเจอ ทำความรู้จักกับวงดนตรีวงใหม่ ๆ และที่สำคัญคือเพื่อนใหม่ ๆ ที่ได้เจอกันผ่าน Myspace ที่ยังคงมิตรภาพความเป็นเพื่อนกันมาจนถึงทุกวันนี้

และอย่าลืม เรามีนัดรวมตัวกับผองเพื่อนร่วมซีนอีโมกันในวันที่ 28 เมษายน 2018 กับงาน #กระทำการอีโม รายละเอียดเพิ่มเติมรอติดตามได้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก Headbangkok เร็ว ๆ นี้!