ในช่วงยุคเก้าศูนย์คงไม่มีกระแสดนตรีใดได้รับความนิยมมากไปกว่ากรันจ์และอัลเทอร์เนทีฟ เสียงดนตรีร็อกจากฝั่งซีแอตเทิลเปรียบดั่งไวรัสที่แพร่ระบาดให้ผู้คนเมามันกันไปทั้งโลก วงดนตรีเมทัลค่อย ๆ ถูกเบียดจากกระแสดนตรีแนวนี้จนแทบจะไม่มีที่ยืน จะมีก็แต่เดธและแบล็คเมทัลเท่านั้นที่กล้าหาญออกมาต่อกร แต่ก็ใช่ว่าจะสร้างกระแสได้เหมือนกับสมัยยุคแปดศูนย์ที่ดนตรีแทรชและแกลมเมทัลเคยทำกันเอาไว้ และดูเหมือนดนตรีทั้งสองแนวนี้ก็จะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไปด้วย แต่ก็แค่หลับไปเท่านั้น ยังไม่ได้ถึงกับตายไปเสียทีเดียว เพราะวงดนตรีเมทัลนามว่า Machine Head กำลังถือกำเนิดขึ้นมา …

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมปี 1992 ณ เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมทัลเฮดไฟแรงนามว่า ร็อบ ฟลินน์ แยกตัวออกมาจากวงดนตรีแทรชเมทัลนามว่า Vio-Lence และได้ก่อตั้งวง Machine Head ขึ้นมาร่วมกับ อดัม ดิวซ์ โดยชื่อวงได้มาจากชื่ออัลบั้มของ Deep Purple ฮาร์ดร็อกรุ่นเก๋าจากเกาะอังกฤษ หลังจากตั้งวงไม่นานพวกเขาก็ทำเดโมกันขึ้นมาและก็ดิ่งไปยื่นให้กับค่าย Roadrunner Records และก็โดนใจจนได้เซ็นสัญญาทำอัลบั้มแรกกันทันที และอัลบั้ม Burn My Eyes ก็คลอดออกมาในวันที่ 9 สิงหาคมปี 1994

พวกเขามาพร้อมกับดนตรีแทรชเมทัล แต่หาใช่แทรชแบบเก่าที่ชาวโลกคุ้นเคยกันไม่ มันมีความโมเดิร์นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพาวเวอร์คอร์ดอันทรงพลัง, ท่อนกรูฟชวนโยกที่ได้รับอิทธิพลมาจากวงอย่าง Pantera, เสียงกีตาร์ฮาร์โมนิกที่แปลกหู และท่อนฮุกที่มีการร้องคลีนเข้ามาช่วยปรับความสมดุลให้กับเพลง และเหมือนว่าอัลบั้มนี้จะกลายเป็นงานที่ปลุกกระแสดนตรีเมทัลให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งเนื่องจากยอดขายที่ทำได้มากถึง 400,000 ก๊อปปี้ กลายเป็นยอดขายสูงสุดของค่าย Roadrunner ในช่วงเวลาดังกล่าว (ก่อนจะถูกยึดแชมป์ไปโดยอัลบั้มแรกของวง Slipknot) มีเพลงฮิตอย่าง “Davidian” และ “Old” นอกจากนี้แล้วอัลบั้มนี้ยังกลายเป็นอิทธิพลให้กับดนตรีเมทัลในยุคต่อมาทั้งนูเมทัลและเมทัลคอร์ โดยเฉพาะวิธีการเล่นแบบพาวเวอร์คอร์ด

หลังจากนั้นเวลาล่วงเลยผ่านไปสามปี เดือนมีนาคมปี 1997 อัลบั้มที่สองอย่าง The More Things Change ก็คลอดออกมา ซึ่งทางวงก็ยังใช้คอลลิน ริชาร์ดสันมาเป็นโปรดิวเซอร์เช่นเดียวกับอัลบั้มแรก ดนตรีของพวกเขายังคงครบเครื่องต่อยอดจากอัลบั้มที่แล้วได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำยอดขายไปได้กว่า 115,000 ก๊อปปี้ในสหรัฐอเมริกา มีเพลงฮิตที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง “Ten Ton Hammer” และ “Take My Scars” และทางวงก็ได้เข้าร่วมเทศกาลดนตรี Ozzfest เทศกาลดนตรียอดฮิตของเหล่าขาโหดที่จัดโดยออสซี่ ออสบอร์นอีกด้วย

อัลบั้มที่สาม The Burning Red ปล่อยออกมาในเดือนกรกฎาคมปี 1999 ในช่วงที่ดนตรีนูเมทัลกำลังรุ่งเรืองสุดขีด ทางวงเปลียนไปใช้บริการโปรดิวซ์เซอร์เป็นรอส โรบินสันแทน พี่แกปั้นมาแล้วทั้ง Slipknot, Korn, Limp Bizkit และ Deftones ซึ่งดูจากรายชื่อแล้วก็ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จทุกวง ท่ามกลางความคาดหวังกับซาวด์อันหนักแน่นที่เคยทำมา แฟนเพลงก็ต้องช็อกไปไม่น้อยเนื่องจากทางวงหยิบเอาดนตรีนูเมทัลมาใช้โดยเฉพาะการร้องแร็ป รวมถึงการแต่งตัวแบบว่านูเมทัลจ๋าจนแฟน ๆ เบือนหน้าหนีกันไปมากอยู่ สื่อเริ่มวิจารณ์ผลงานนี้ว่าพวกเขาเข้าหาความเป็นเมนสตรีมมากขึ้น ซึ่งก็จริงเนื่องจากพวกเขาได้แฟนเพลงรุ่นใหม่ ๆ เพิ่มมามากขึ้น แม้อัลบั้มจะถูกวิจารณ์ในแง่ลบแต่ก็ขายได้ดี ทำยอดขายได้มากกว่าอัลบั้ม The More Things Change เสียอีก อัลบั้มนี้มีเพลงฮิตยุคเด็กนูฯ เพียบ ทั้ง “From This Day”, “Silver” “The Blood, The Sweat, The Tears” ความจริงแล้วอัลบั้มนี้มันก็ไม่ถึงกับแย่ เพราะยังมีเพลงที่คงความเป็น Machine Head ให้พอชื่นใจอยู่บ้าง

อัลบั้มต่อไปอย่าง Supercharger อันนี้สิเฟลกว่าเยอะ!

อัลบั้ม Supercharger วางแผงไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมปี 2001 โปรดิวเซอร์ที่รับหน้าที่ผลิตผลงานในอัลบั้มนี้คือ จอห์นนี่ เค (Staind, 3 Doors Down, Disturbed) ซึ่งนี่กลายเป็นอัลบั้มที่แย่ที่สุดของ Machine Head เป็นผลงานที่ไร้ซึ่งพลังและแทบจะสิ้นเอกลักษณ์ไปเลยทีเดียว ซาวด์ตลบอบอวลไปด้วยนูเมทัล เน้นความเมนสตรีมเป็นหลัก เล่นเอาแฟนเพลงสูญสิ้นศรัทธากันไปแทบหมดจนแทบจะถูกปล่อยลอยแพออกจากค่าย Roadrunner กันเลยด้วย โดนยกเลิกสัญญากับค่ายแม่ในอเมริกา เหลือแต่เครือข่ายออกต่างประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถือว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดแท้ ๆ เพราะว่าอัลบั้มนี้ถ้าเป็นผลงานของนูเมทัลวงอื่น ๆ ก็ต้องบอกว่าทำออกมาได้เจ๋งไม่น้อย แต่สำหรับ Machine Head แล้ว มันไม่ใช่เลยซักนิด

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ร็อบ ฟลินน์และสมาชิกในวงเหมือนจะตั้งสติกันได้ และอัลบั้ม Through the Ashes of Empires ที่ร็อบ ฟลินน์ ลงมือโปรดิวซ์เองถือว่าเรียกศร้ทธาจากสาวกกลับมาได้ไม่น้อย อัลบั้มนี้เปิดตัวด้วยเพลง “Imperium” อินโทรด้วยเสียงกีตาร์ฮาร์โมนิกที่คุ้นเคย ตามด้วยการโหมโรงท่อนกลองมาร์ช เสียงรัวร์สแนร์กึกก้อง ก่อนจะตบด้วยเสียงคำรามของฟลินน์ว่า “Hear me now!” สิ้นสุดเสียงคำรามดนตรีในแบบที่แฟนเพลงของวงถวิลหาก็ถาโถมกระหน่ำเข้ามาเต็ม ๆ จิตวิญญาณของพวกเขาคืนกลับมาแล้ว และพวกเขาก็ได้รับการต่อสัญญากับค่าย Roadrunner ต่อไปด้วย นับเป็นการคัมแบ็คที่ถูกที่ถูกเวลาจริง ๆ อัลบั้มนี้ถูกนิตยสาร Rock Hard Magazine จัดให้เป็นหนึ่งในห้าร้อยอัลบั้มเมทัลที่ดีที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

อัลบั้ม The Blackening สตูดิโออัลบั้มลำดับที่หกของวงออกวางแผงห่างจาก Through the Ashes of Empires ไปถึงสี่ปี ซึ่งผลงานชุดนี้ฟลินน์ยังคงลงมือโปรดิวซ์เองเช่นเคย พวกเขากลับมาพร้อมกับการพัฒนาดนตรีให้เข้มข้นขึ้นและหลักแน่นมากขึ้น รวมถึงมีการหยิบลูกโซโล่สวย ๆ มาใช้ ทำให้เพลงดูมีมิติและมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีความเป็นกรูฟแบบ Machine Head อยู่ครบครัน การเดินทางของแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้ยาวนานขึ้น บางเพลงยาวถึง 10 oาทีเลยทีเดียว แต่ตัวเพลงกลับไ่ม่น่าเบื่อเลยซํกนิดเพราะการถ่ายทอดดนตรีแต่ละพาร์ทมีรายละเอียดที่น่าสนใจให้ติดตามอยู่ตลอด เพลง “Aesthetics of Hate” ที่แต่งให้กับไดม์แบ็ก ดาร์เรลแห่ง Pantera ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best Metal Performance ด้วย แต่ก็แพ้วง Slayer ไปอย่างน่าเสียดาย แต่อัลบั้มนี้ก็ถูกทางนิตยสาร Kerrang! ยกให้เป็นอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี เอาชนะทั้ง Lamb of God และ Slayer ไปได้ และก็ยังเป็น ‘Album of the Century’ จากโพลของค่าย Roadrunner Records อีกด้วย

ในปี 2011 อัลบั้มเต็มลำดับที่เจ็ดอย่าง Undo the Locust ผลงานชุดสุดท้ายกับค่าย Roadrunner Records ก็ถูกปล่อยออกมา ดนตรีในอัลบั้มนี้ยังคงต่อยอดความยอดเยี่ยมมาจาก The Blackening แน่นอนว่าร็อบ ฟลินน์โปรดิวซ์เองอีกแล้ว อัลบั้มนี้เปิดตัวสัปดาห์แรกที่อันดับ 22 บนบิลบอร์ดชาร์ต ซึ่งุถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากไม่น้อยเลยในยุคที่ดาวน์โหลดเพลงกันอย่างแพร่หลายเช่นนี้

หลังจากนั้นพวกเขาก็ย้ายบ้านจาก Roadrunner มาสู่ Nuclear Blast Records และปล่อย Bloodstone & Diamonds อัลบั้มเต็มลำดับที่แปดออกมา อัลบั้มนี้เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ดนตรีในอัลบั้มนี้มีการหยิบยกเครื่องสายเข้ามาใช้กับเพลงมากขึ้น เพิ่มความแปลกใหม่ให้กับซาวด์ของวงได้มาก แต่ก็ไม่ได้ลดความเป็นกรูฟลงไปแม้แต่น้อย และยังแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัดของพวกเขาอีกด้วย อายุที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ไฟในดนตรีของพวกเขาลดลงแต่อย่างใด ปัจจุบันทางวงมีสมาชิกประกอบไปด้วย ร็อบ ฟลินน์ – ร้องนำ/กีตาร์, ฟิล ดิมเมล – กีตาร์, จาเร็ด แม็คอีเชิร์น – เบส และเดฟ แม็คเคลน – กลอง

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับวงดนตรีวงหนึ่งที่จะยืนหยัดมาได้เกือบ 25 ปีเช่นนี้ หากไม่ใช่เพราะคุณภาพของผลงานและศรัทธาจากแฟนเพลงคงจะไม่มีทางมาได้ถึงจุดนี้แน่นอน นอกจากอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมแล้วเรื่องการแสดงสดยังยอดเยี่ยมไม่แพ้กันด้วย ผ่านมาแล้วทั้งเทศกาลดนตรี Wacken Open Air, Download Festival, Ozzfest, Rock Am Ring ฯลฯ และในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้เหล่าสาวกของวง Machine Head ในประเทศไทยก็จะได้พบกับการแสดงสดของพวกเขาเป็นครั้งแรก ณ Centerpoint Studio ซอยลาซาล บัตรราคา 1,500 บาท (วันงาน 1,800 บาท) หาซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Thai Ticket Major

ประวัติศาสตร์ครั้งนี้เมทัลเฮดตัวจริงห้ามพลาดโดยเด็ดขาด!

machine-head-live-in-bangkok